วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2551

11.ไทยประธานอาเซียน

ประเทศไทยเข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนซึ่งได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-24 ก.ค. 2551 ที่สิงคโปร์ จนถึงเดือนธันวาคม 2552 โดยในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานดังกล่าว ประเทศไทยมีภารกิจในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมต่างๆ ซึ่งรวมถึงการประชุมสุดยอดอาเซียน (14th ASEAN Summit) ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2551 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ครั้งที่ 42 (42nd ASEAN Ministerial Meeting-AMM) และการประประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกับประเทศคู่เจรจา (Post Ministerial Conference — PMC) ในเดือนกรกฎาคม 2552 และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ปลายปี 2552
ในช่วงการดำตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยได้กำหนดเป้าหมายหลักที่จะผลักดันไว้ 3 เรื่อง กล่าวคือ
1.การอนุวัติข้อผูกพันภายใต้กฎบัตรอาเซียน (Realising the Commitments under the ASEAN Charter) โดยเฉพาะในเรื่องการยกร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ที่จะจัดตั้งขึ้น ได้แก่ กลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา และคณะมนตรีประสานงานอาเซียน เป็นต้น
2.การฟื้นฟูอาเซียนให้เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นจุดศูนย์กลาง (Revitalizing ASEAN as a people-centered Community) ซึ่งรวมถึงการเสริมสร้างความตระหนักรับรู้เกี่ยวกับอาเซียนในหมู่ประชาชน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคประชาสังคมในการสร้างประชาคมอาเซียน
3.การเสริมสร้างการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์สำหรับประชาชนทุกคนในภูมิภาค (Reinforcing human development and security for all the peoples of the region) โดยส่งเสริมให้การดำเนินความร่วมมือของอาเซียนตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาท้าทายต่างๆ เช่น ความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน ภัยพิบัตรทางธรรมชาติ เป็นต้น
ในช่วงการเป็นประธานอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมอาเซียนได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์อาเซียน การเป็นประธานอาเซียนของไทย การเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 โดยมีโครงการ 15 โครงการลงสู่ภาคประชาชน ได้แก่
1. โครงการจัดตั้งสมาคมอาเซียนประเทศไทย
2. โครงการจัดทำเว็บไซต์สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14
3. โครงการยุวทูตความดีกับอาเซียน
4. โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับเยาวชนอาเซียน (ASEAN University Youth Summit 2008)
5. โครงการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับอาเซียนร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
6. โครงการประกวดเพลงประจำอาเซียน (ASEAN Anthem Competition)
7. โครงการการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำอาเซียน 3 ประสาน (ASEAN High Level Panel Discussion)
8. โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและการจัดการประชุม ASEAN Civil Society Conference ครั้งที่ 4
9. การจัดงานเฉลิมฉลองวันครบรอบก่อตั้งอาเซียนในวันที่ 8 สิงหาคม 2551
10. โครงการจัดทำสารคดีอาเซียน
11. โครงการจัดทำวีดีทัศน์การ์ตูนเกี่ยวกับอาเซียน และการจัดทำหนังสือ
12. โครงการจัดทำหนังสือ “มารู้จักอาเซียนกันเถอะ”
13. โครงการจัดทำหนังสือ “บันทึกเดินทางอาเซียน”
14. โครงการจัดทำหนังสือ Young Faces of ASEAN
15. โครงการแข่งขันเรียงความภาษาไทยเกี่ยวกับอาเซียน
การเปิดตัวเว็บไซต์สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ไทยได้จัดทำเว็บไซต์สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ชื่อ www.14thaseansummit.org โดยจะเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ ดังนี้
1. การประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ไทยเป็นประธาน รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียน
2. เผยแพร่สัญลักษณ์ (logo) และคำขวัญ (slogan) ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 และข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย
3. การรับลงทะเบียน online สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมและนักข่าว
4. รายละเอียดของกิจกรรมต่างๆ ที่ประเทศไทยได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมการตระหนักรับรู้เกี่ยวกับอาเซียน
5. ถ่ายทอดสดพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 และพิธีปิดการประชุม รวมทั้งสามารถติดตามข้อมูลความคืบหน้าของการประชุมเป็นระยะ
6. รับฟังการกล่าวสุนทรพจน์ของผู้นำประเทศต่างๆ บทสัมภาษณ์ผู้นำ/รัฐมนตรีต่างประเทศ
7. จัดเก็บเอกสารสำคัญของผลการประชุมสุดยอดอาเซียนในกรอบต่างๆ
8. จัดทำข่าวสารนิเทศข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อเผยแพร่และประกอบการรายงานข่าวของสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ
สัญลักษณ์การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 คือภาพมือล้อมรอบสัญลักษณ์อาเซียนตั้งอยู่บนกฎบัตรอาเซียน
- รูปมือ 4 มือ หมายถึงการประสานความร่วมมือของอาเซียนในการ สนับสนุนการดำเนินงานของ 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองความมั่นคง
อาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศนอกอาเซียน (ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน) นอกจากนี้ มือที่ประกอบกันทั้ง 4 ด้านได้สะท้อนภาพคล้ายลายดอกไม้ไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของไทย
- สีทอง หมายถึงความเจริญรุ่งเรือง
- ลายคลื่นสีเขียว หมายถึง ให้สัญลักษณ์เปรียบเสมือนกฎบัตรอาเซียนที่จะมีผลใช้บังคับในการประชุมสุดยอดที่ประเทศไทย
ความหมายโดยรวมของสัญลักษณ์ คืออาเซียน โดยประชาชนจะประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ในการผลักดันการดำเนินงานของ 3 เสาหลักให้มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรมเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน รวมทั้งจะสานต่อความสัมพันธ์และกระชับความร่วมมือกับประเทศนอกอาเซียนอย่างแนบแน่น โดยจะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียนที่จะทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพต่อไป
คำขวัญ (slogan) ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 คือ “ASEAN Charter for ASEAN Peoples” หรือ “กฎบัตรอาเซียนเพื่อประชาชนอาเซียน”
โครงการยุวทูตความดีกับอาเซียน (Thai Ambassadors of Virtue and ASEAN)
กระทรวงการต่างประเทศได้จัดโครงการยุวทูตความดีขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในปี 2542 ซึ่งโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนที่สามารถริเริ่มและดำเนินกิจกรรมประสบผลสำเร็จเกี่ยวกับการพัฒนานักเรียนให้เป็นผู้มีคุณภาพ คุณธรรมและจริยธรรมตามแนวพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีจำนวน 1,330 โรงเรียนจาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ
โครงการยุวทูตความดีกับอาเซียน ถือเป็น 1 ใน 15 โครงการของกรมอาเซียนที่เน้นการตระหนักรับรู้เกี่ยวกับอาเซียนกับเยาวชนทั่วประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมอาเซียนได้จัดทำชุดเกมส์การทดสอบความรู้เกี่ยวกับอาเซียนชื่อ “ASEAN Traveler Game” และส่งให้โรงเรียนยุวทูตความดีทั่วประเทศจำนวน 919 โรงเรียนเพื่อจัดการแข่งขันขึ้นภายในโรงเรียนอย่างพร้อมเพรียงกันในวันที่ 8 สิงหาคม 2551 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันก่อตั้งอาเซียน โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิยชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) มูลนิธิซิเมนต์ไทย สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ จำกัด บริษัทผาแดง อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) บริษัทเดนโซ อินเตอร์เนชั่นเนล (ไทยแลนด์) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทไปรษณีย์ไทย ทั้งนี้ โรงเรียนยุวทูตความดีจะได้รับประกาศนียบัตรจากกระทรวงการต่างประเทศ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-
เปิดโลกกว้าง-สุรินทร์ พิศสุวรรณ กับบทบาทประธานอาเซียนคนใหม่



โดย คม ชัด ลึก วัน เสาร์ ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2550 02:01 น.


ในปี 2551 ที่กำลังจะมาถึงนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่นอกจากจะได้รัฐบาลใหม่เป็นของขวัญปีใหม่แล้ว ประเทศไทยยังจะมีเลขาธิการ สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
เป็นคนไทยด้วย นั่นคือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่เตรียมจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 มกราคมนี้ เพื่อกุมบังเหียนองค์การแห่งภูมิภาคที่มีอายุครบ 40 ปีแล้วนี้ให้ก้าวเดินต่อไปพร้อมกับความท้าทายใหม่ๆ ตลอด 5 ปีข้างหน้า
แต่การที่จะทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำของอาเซียนได้นั้นต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากคนในประเทศที่จะเป็นแบบอย่างในการพัฒนา และนำพาอาเซียนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ นั่นคือ เป็นภูมิภาคที่มีความแข็งแกร่งทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงมนุษย์ ซึ่งวันนี้ คม ชัด ลึก ได้นำวิสัยทัศน์ของ ดร.สุรินทร์ ที่มีต่ออาเซียนมาให้ได้อ่านกันแบบคำต่อคำ เพื่อเตรียมความพร้อมของตัวเองก่อนก้าวสู่ยุคใหม่แห่งประชาคมอาเซียนที่ ดร.สุรินทร์ อยากให้คนไทยรู้จักให้ลึกซึ้งมากขึ้น
อาเซียนกับความท้าทายแห่งทศวรรษที่ 5
ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า อาเซียนที่กำลังก้าวสู่ยุคใหม่ในปีที่ 41 หรือเป็นทศวรรษที่ 5 แล้วนี้ มีสมาชิกมากกว่าแค่ 10 ประเทศ เพราะแท้จริงแล้วทั้งโลกรวมอยู่กับอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจในคณะมนตรีความมั่นคงทั้ง 5 ประเทศ เช่น สหรัฐ จีน รัสเซีย ที่มาพร้อมกับเอเปค ส่วนอังกฤษ และฝรั่งเศส ก็มาพร้อมกับสหภาพยุโรป (อียู) ทำให้สมาชิกต่างๆ ต้องเร่งประสานความร่วมมือ เร่งปรับระบบระเบียบภายในบ้านตัวเองให้ดียิ่งขึ้นเพื่อเตรียมตัวเป็นตลาดเดียวและเพิ่มอำนาจต่อรองกับประเทศอื่นๆ จนทำให้อาเซียนเป็นเวทีเดียวที่นักลงทุนเข้ามาคุยกับประเทศเดียว แต่สามารถขายสินค้าได้ในอีก 9 ประเทศ ไม่นับรวมประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่อาเซียนได้ลงนามเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ด้วยอีกหลายประเทศ
ที่สำคัญคือการที่อาเซียนถือกำเนิดขึ้นที่เมืองไทย คนไทยก็ควรจะภูมิใจและได้ประโยชน์จากการสร้างเครือข่ายติดต่อกับประเทศต่างๆ เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างกันให้มากขึ้น
เน้นสร้างการศึกษา-ความมั่นคงมนุษย์
การศึกษา และการพัฒนาความมั่นคงมนุษย์นั้นถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับการสร้างประชาคมอาเซียน เนื่องจากปัจจุบันประชาชนในประเทศภาคีสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศยังคงมีความเหลื่อมล้ำกันสูงมาก มีตั้งแต่รายได้เพียง 209 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวต่อปี ไปจนถึงรายได้เกือบ 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อหัวต่อปี ซึ่งความเหลื่อมล้ำกันนี้จะทำให้อาเซียนไม่มั่นคง ดังนั้น ยุทธศาสตร์ที่จะเชื่อมช่องว่างนี้ได้คือการศึกษา และการพัฒนามนุษย์
แม้ที่ผ่านมาจะมีมิตรประเทศมากมายยื่นมือเข้าช่วยเหลือทั้งญี่ปุ่น สหรัฐ และอียู แต่ ดร.สุรินทร์ คิดว่า ถึงเวลาแล้วที่อาเซียนจะต้องช่วยกันเอง โดยเฉพาะไทยที่หากต้องการจะได้ประโยชน์เต็มที่จากการพัฒนาอาเซียน ไทยควรจะต้องลงทุนเองด้วยการหันไปช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่ยังมีการพัฒนาไม่เท่าเทียมกับเราให้พัฒนาขึ้นมาทัดเทียมกันเพื่อสมานรอยห่างเหล่านั้น ซึ่งหากทำได้จะถือเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของมนุษย์ที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาภูมิภาคซึ่งจะส่งผลดีต่อไทยในท้ายที่สุด
ส่วนในเรื่องการศึกษานั้น อาเซียนซึ่งมีประชากรถึง 570 ล้านคน จะต้องคิดถึงการสร้างเยาวชน สร้างอนาคต สร้างโอกาส และเตรียมความพร้อมของเยาวชนให้เติบโตเข้าสู่โลกแห่งการแข่งขัน โลกที่มีทรัพยากรจำกัด ต่อไปนี้เด็กๆ จะไม่หางานหาโอกาสเพียงในประเทศเท่านั้น แต่จะเป็นการแสวงหาโอกาสในภูมิภาค และเวทีโลก ซึ่งการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อนาคตของอาเซียนเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญและก้าวไปแข่งขันกับโลกได้
ยึดมนุษย์ศูนย์กลางนโยบายพัฒนา
ขณะนี้ทั่วโลกกำลังมีแนวคิดใหม่ในการสร้างความมั่นคงมนุษย์ เพราะที่ผ่านมามักจะมีแต่การพูดถึงแต่ความมั่นคงของรัฐ อธิปไตยรัฐ อำนาจรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไปแล้ว เพราะแม้รัฐจะมีความมั่นคง แต่มีหลายครั้ง หลายประเทศที่รัฐบาลเป็นผู้ก่อปัญหาเสียเอง ดังนั้น ต่อไปนี้มนุษย์จะต้องเป็นศูนย์กลางของการกำหนดนโยบายทุกด้าน รวมทั้งปัญหาด้านความมั่นคงด้วย
ในส่วนของสิทธิมนุษยชนนั้น อาเซียนได้ตั้งกลไกตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคขึ้น ซึ่งนานาประเทศได้ชื่นชมกับความคิดนี้ โดยกลไกนี้จะช่วยสังเกตการณ์ และแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิก ซึ่งจะเป็นมาตรฐานช่วยวัดความก้าวหน้าของอาเซียนด้วยว่า เราก้าวหน้าเทียบเคียงนานาประเทศแล้ว
แนะใช้เศรษฐกิจพอเพียงแก้โลกร้อน
ปัญหาโลกร้อนเกิดจากการที่มนุษย์มุ่งพัฒนา และวัดความเจริญก้าวหน้าด้วยวัตถุแต่เพียงอย่างเดียว ทำให้มีการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาล ทั้งๆ ที่ทรัพยากรมีไม่เพียงพอ ดังนั้น อาเซียนจึงต้องคิดรูปแบบของการพัฒนาขึ้น ซึ่งแนวพระราชดำริการพัฒนาประเทศแบบเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาจเป็นทางออกสำหรับประเทศไทย และในภูมิภาคนี้ ซึ่งหากเราทำสำเร็จก็จะกลายเป็นแบบอย่างทางออกที่แก้ปัญหาให้แก่ประชาคมโลกได้ด้วย
ด้วยแนวทางแห่งเศรษฐกิจพอเพียง การใช้แต่เพียงพอ บริโภคอย่างพอเพียง แบ่งปัน และใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดไว้รับมือความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งการสร้างแนวคิดแห่งการแบ่งปันนี้จะนำไปสู่การสร้าง ประชาคมแห่งความห่วงใย ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่ยอดเยี่ยมมาก และเป็นสังคมในฝันที่ควรจะเกิดขึ้นในอาเซียน
ปรับหลักแทรกแซง-สร้าง อัตลักษณ์อาเซียน
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ส่งผลให้อาเซียนต้องปรับปรุงนโยบายไม่แทรกแซงกันและกันใหม่ให้มีความยืดหยุ่นขึ้น เนื่องจากปัญหาของประเทศเดียวสามารถกลายเป็นปัญหาของภูมิภาคหรือของโลกได้ อธิปไตยที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่มีอีกแล้ว เพราะทั่วโลกเกี่ยวข้องกันหมด ซึ่งแม้กฎบัตรฉบับใหม่จะไม่มีการระบุตรงๆ ว่าอาเซียนจะเปลี่ยนหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน แต่ในเนื้อหาได้บอกเป็นนัยว่า เราต้องร่วมมือกัน เราต้องอยู่ด้วยกัน เราต้องช่วยเหลือกัน เราต้องรับฟังกันและกัน ซึ่งยุคใหม่ของอาเซียนจะประสบความสำเร็จได้ต้องขึ้นอยู่กับประชาชนทุกชาติทุกภาษาของอาเซียนที่จะต้องรู้สึกว่าตัวเองเป็น คนอาเซียน เป็นเจ้าของอาเซียนมากขึ้น เพื่อที่จะช่วยสร้างความมั่นคง ความก้าวหน้า และพัฒนาภูมิภาคนี้ให้เป็นสังคมที่ทุกคนใฝ่ฝันถึง
ล้อมกรอบ / 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาเซียน
1.อาเซียนถือกำเนิดจากความคิดของ นายถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร โดยมีการลงนาม ปฏิญญากรุงเทพฯ ที่วังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ ก่อนที่ บรูไน เวียดนาม ลาว พม่า และ กัมพูชา จะเข้ามาเป็นสมาชิกตามลำดับจนปัจจุบันมีทั้งหมด 10 ประเทศ
2.สำนักงานเลขาธิการอาเซียนตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีเลขาธิการอาเซียนเป็นผู้บริหารสำนักงาน
3.กระทรวงต่างประเทศของภาคีสมาชิกแต่ละชาติจะมีกรมอาเซียนไว้ทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ของแต่ละประเทศ
4.สัญลักษณ์อาเซียนเป็น ต้นข้าวสีเหลือง 10 ต้นมัดรวมกันไว้ หมายถึงประเทศสมาชิกรวมกันเพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและความก้าวหน้า สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ และ สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง
5.นอกจาก ดร.สุรินทร์ จะเป็นเลขาธิการอาเซียนในปีหน้าแล้ว ประเทศไทยยังได้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้าด้วย
6.อาเซียนเป็นเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality-ZOPFAN)
7.กฎบัตรอาเซียน ร่างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์และการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2558
8.อาเซียนกำลังร่างแผนจัดตั้ง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะทำให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวที่มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ แรงงาน และการลงทุนอย่างเสรีเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและทำให้อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกอย่างสมบูรณ์ให้ได้ภายในปี 2558
9.กลุ่มสินค้าและบริการนำร่องในตลาดเดียวอาเซียน ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าประมง ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ บริการด้านสุขภาพ รวมทั้งบริการท่องเที่ยวและการบิน ซึ่งไทยกำลังดำเนินการจัดทำแผนแม่บทในบริการนี้อยู่
10.ประโยชน์ที่ไทยจะได้จากตลาดเดียวอาเซียน คือ การลดหรือยกเลิกภาษีระหว่างประเทศสมาชิก ทำให้สินค้าไทยมีราคาถูกลง และแข่งขันได้มากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนา และเพิ่มปริมาณสินค้าให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้สอยมากขึ้น
มลฤดี จันทร์สุทธิพันธุ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น