เขียนโดย วิษณุ บุญมารัตน์
Thursday, 06 October 2005
เมื่อเดือน กันยายน 2548 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปสอนปริญญาโทการเมืองที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีในวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งวันนี้ผู้เขียนขอเล่าชุดความคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองไทย
ปัจจุบันคำว่า เศรษฐศาสตร์การเมือง เริ่มมีการพูดถึงกันมากขึ้นทั้งที่ทราบและไม่ทราบความหมาย หากแยกออกมาเป็น 2 คำ คือเศรษฐศาสตร์ และ การเมือง จะมีผู้ที่เข้าใจความหมายกันโดยมาก เพราะเศรษฐศาสตร์ตามความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง วิชาว่าด้วยการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจก และการบริโภคใช้สอยสิ่งต่าง ๆ ของชุมชน ซึ่งใกล้เคียงกับการรับรู้ของคนทั่วไป เช่นเดียวกับคำว่า เศรษฐกิจ อันหมายถึง งานอันเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจก และการบริโภคใช้สอยสิ่งต่างๆ ของชุมชน พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เศรษฐศาสตร์ คือ วิชาที่ศึกษาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นงานเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจก และการบริโภคใช้สอยของชุมชนนั่นเอง
เมื่อมาพิจารณาถึงคำว่า การเมือง จะพบว่ามีความหมายหลายอย่าง เฉพาะในส่วนของการเป็นคำนามนั้น มีถึง 3 ความหมายคือ 1) งานที่เกี่ยวกับรัฐหรือแผ่นดิน 2) การบริหารประเทศเฉพาะที่เกี่ยวกับนโยบายในการบริหารประเทศ 3) กิจการอำนวยหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สรุปสั้นๆ คือ งานที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน
แต่เมื่อนำคำ 2 คำมารวมกันเป็น เศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy)กลับเป็นเรื่องของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นในมิติทางการเมืองและวัฒนธรรม แม้จะยังคงยึดด้านเศรษฐกิจเป็นหลักก็ตาม แนวคิดดังกล่าวมีจุดกำเนิดมาจากยุโรปตั้งแต่คริสตวรรษที่ 19 ที่เป็นการศึกษาวิเคราะห์ชีวิตสังคมที่เป็นระบบและรอบด้าน โดยบูรณาการเอาศาสตร์ต่างๆ มารวมเข้าด้วยกัน ศาสตร์หนึ่งซึ่งมีความเกี่ยวพันกับเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างมาก ก็คือ ประวัติศาสตร์
เศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นวิชาที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของวิชาเศรษฐศาสตร์กระแสรอง ซึ่งเป็นการนำวิชาเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ร่วมกับวิชาอื่น เช่น เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ขณะที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก จะเป็นวิชาว่าด้วยการเงิน การคลัง การวางแผนการบริหารงบประมาณเพื่อให้คุ้มค่าที่สุด นักเศรษฐศาสตร์
กระแสหลักจึงเป็นผู้ที่เข้าทำงานในหน่วยงานด้านการเงินการคลังของรัฐเสียโดยมาก ส่วนนักเศรษฐศาสตร์กระแสรองก็มักจะเป็นนักวิชาการที่เผยแพร่ความคิดของตนผ่านงานเขียนทางวิชาการ และการสอน
ประเทศไทยนั้นมีการพูดถึงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมาตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อพระสุริยานุวัตร ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกของไทย ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ "ทรัพยศาสตร์" เมื่อปี พ.ศ. 2454 นำแนวคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คลาสสิก และนีโอคลาสสิก เข้ามาวิเคราะห์สังคมไทยว่า ควรใช้ระบบสหกรณ์เพื่อแบ่งปันกัน เนื่องจากระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลนั้นก่อให้เกิดเศรษฐีและยาจก แต่แนวคิดนี้ถูกห้ามเผยแพร่ เพราะจะก่อให้เกิดการต่อสู้ทางชนชั้น
แนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักถูกกล่าวถึงอีกครั้ง เมื่ออาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้นำเสนอแนวคิดเพื่อปฏิรูปประเทศไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แต่ยังคงถูกปฏิเสธเช่นเดิม จนเมื่อรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ามาบริหารประเทศและให้ความสำคัญกับนักวิชาการต่างประเทศ ดังนั้น การเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจของคณะนักสำรวจเศรษฐกิจของธนาคารโลกที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยจึงทำให้รัฐบาลประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกเมื่อปี พ.ศ.2504 และนั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศ เพราะรัฐบาลมองว่า นักเศรษฐศาสตร์เป็นเพียงนักเทคนิคที่จะช่วยวางแผนงบประมาณรายจ่ายของประเทศ ซึ่งมุ่งศึกษาแต่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์โดยไม่ได้พิจารณาปัจจัยทางการเมืองแต่อย่างใด จึงไม่มีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล
แต่สำหรับเศรษฐศาสตร์กระแสรอง อย่างเช่น เศรษฐศาสตร์การเมือง เพิ่งมีโอกาสเปิดตัวให้เป็นที่รับรู้ของสังคมภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีผู้เสนอแนวคิดดังกล่าวมาบ้างแล้วก็ตาม
การเปิดตัวของกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2516 ได้มีการนำแนวคิดมาร์กซิสมนุษยนิยมผสมกับแนวคิดอนาธิปัตย์นิยม (anarchism) เข้ามาอธิบายสภาพสังคมที่เป็นอยู่ในขณะนั้น สร้างความแปลกใหม่ในวงวิชาการ และในเวลาต่อมาได้นำมิติท้องถิ่นชุมชนเข้ามาพิจารณาด้วย ซึ่งทำให้การอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ต้องอ้างอิงมิติทางประวัติศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง กลายเป็นสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวประวัติศาสตร์ ที่มุ่งเสนอให้ทบทวนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา และทบทวนทฤษฎีและแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ชี้นำแนวทางนั้น ชักชวนให้นักวิชาการและปัญญาชนหันกลับมามองชุมชนท้องถิ่น พื้นฐานของชีวิต วัฒนธรรมความเป็นอยู่ ที่มีความสำคัญกว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอย่างตะวันตก
ดังนั้น การศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองของสำนักนี้จึงกลายเป็นสหสาขาวิชาที่อธิบายพัฒนาการของสังคมได้ค่อนข้างรอบด้านพร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางแก้ไขที่พึงกระทำ แม้จะเป็นความคิดที่ออกนอกกรอบของสังคมในเวลานั้นๆ แต่ก็ได้รับการพิสูจน์ในเวลาต่อมาแล้วว่า ข้อเสนอแนะดังกล่าวเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน บทบาทของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองสำนักนี้กำลังเป็นที่จับตามองของหลายฝ่าย เพราะนอกจากจะเสนอแนวความคิดที่เกือบจะเป็นการฟันธงแล้ว ยังวิพากษ์ระบบการเมืองการปกครองอย่างตรงไปตรงมา สร้างความไม่พอใจให้กับผู้เกี่ยวข้องหลายครั้งด้วยกันจนมีความพยายามเข้าครอบงำการทำงานของสำนักนี้ในเชิงชี้นำการวิจัยเพื่อสร้างภาพบวกให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ผู้เขียนในฐานะศิษย์เก่าของสำนักนี้ยังเชื่อมั่นในความเป็นกลางทางวิชาการของคณาจารย์ในสำนักนี้ทุกท่าน และยังภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ รวมทั้งนำสิ่งที่ได้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงาน
หนังสือ วิพากษ์การเมือง ยุคทักษิณ ชินวัตร ของผู้เขียนเป็นตัวอย่างงานด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองเล่มหนึ่ง รวมถึงเว็บไซต์ www.wiszanu.com ด้วยนั้น ขอยืนยันว่า ข้อคิดเห็นและข้อมูลที่ปรากฏนั้นเป็นการวิเคราะห์จากสภาพที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้มีอคติแต่อย่างใด เพียงมุ่งหวังให้ประชาชนคนไทยสนใจเหตุการณ์รอบตัวมากขึ้นและมองให้รอบด้านถึงเหตุที่มาและอนาคตที่กำลังจะเป็นไป จะพบว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลต่ออีกหลายเรื่องนั้น การกลับไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงแทนระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม จะเป็นทางออกที่ดียิ่งในเรื่องนี้
The Midnight University
เศรษฐศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย
ขาลงรัฐบาลทักษิณ และ สองนัคราประชาธิปไตย
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความวิชาการบนหน้าเว็บเพจนี้ รวบรวมมาจากผลงานที่เคยได้รับการตีพิมพ์แล้ว
บนหน้าหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
การรวบรวมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้ประกอบการศึกษา
สำหรับนักศึกษาและผู้สนใจการวิเคราะห์เหตุบ้านการเมืองร่วมสมัยในสังคมไทย
บทความที่ได้รับการรวบรวม ประกอบด้วย
๑. ที่เรียกว่าขาลงของรัฐบาลทักษิณ ๒. ที่เรียกว่าสองนัคราประชาธิปไตย
๓. ที่เรียกว่าสัญญาประชาคมใหม่
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 815
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)
ขาลงรัฐบาลทักษิณ และ สองนัคราประชาธิปไตย
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
1. ที่เรียกว่าขาลงของรัฐบาลทักษิณ
สามสี่เดือนหลังของปีก่อน หนูกลอยทนดูอาการเงอะๆ งะๆ เรื่องเทคโนโลยีของปาป๊าไม่ได้ก็เลยเมตตาช่วยสอนให้รู้จักใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ Power Point สำหรับทำแผ่นภาพฉายขึ้นจอประกอบการบรรยาย
ความที่เห็นว่ามันเหมาะมือดี มีเทคนิคคัลเลอร์ดูดตาดูดใจ จัดแต่งภาพให้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้สารพัด และที่สำคัญมันนำเสนอข้อมูล จับประเด็นแนวคิด สะท้อนถ่ายทอดลำดับเหตุผลข้อถกเถียงได้รวบรัด คมชัดถนัดชัดเจนยิ่ง ผมจึงใช้เอาๆ จนติดและออกจะพร่ำเพรื่อ ชักเขียนอะไรยาวๆ เป็นเรื่องเป็นราวไม่ค่อยเป็น ชอบแต่เขียนสรุปย่อสั้นๆ และหนักข้อเข้าพอไม่มีแผ่นภาพ Power Point ฉายประกอบ ก็พาลพูดไม่ค่อยออกเอาเลยทีเดียว
ดังที่ท่านผู้อ่านอาจสังเกตเห็นว่าผมดอดเอาชุดแผ่นภาพ Power Point ที่ผมทำขึ้นประกอบการบรรยายในวาระหัวข้อต่างๆ มาลงคอลัมน์นี้หลายครั้งในระยะที่ผ่านมา เพราะรู้สึกว่ามันสวยดี และง่ายดีครับ ทว่าทำไปทำมาก็เริ่มมีเสียงสะท้อนจากเพื่อนมิตรและลูกศิษย์ลูกหาว่าไม่คุ้นเคย และบางชิ้นก็ดูไม่ใคร่รู้เรื่องว่าจะบอกอะไรกันแน่? โดยเฉพาะเรื่อง "ส.ค.ส.2549 : ที่เรียกว่าขาลงของรัฐบาลทักษิณ" ในฉบับศุกร์สุดท้ายปลายปี ผมต้องขออภัยและคิดว่าถึงเวลากลับมาเขียนความเรียงตามปกติได้แล้ว
ความจริงภาพ ส.ค.ส.ขาลงของรัฐบาลทักษิณแผ่นนั้นมีที่มาจาก เมื่อสองสามสัปดาห์ก่อนรายการเคเบิลทีวีเจ้าหนึ่งติดต่อขอสัมภาษณ์ผม ให้ช่วยวิเคราะห์วิจารณ์สถานการณ์การเมืองรอบปีที่ผ่านมา และคาดการณ์แนวโน้มการเมืองปีหน้า ระหว่างผมนั่งลำดับความคิดก่อนสัมภาษณ์นั่นเอง เจ้าชิ้นส่วนองค์ประกอบข้อคิดวิเคราะห์ต่างๆ มันก็ค่อยๆ ทยอยลอยลงมาชุมนุมร้อยเรียง ยึดโยงสัมพันธ์กันเป็นภาพรวมอย่างลงตัวกระชับรัดกุม ผมก็เลยจับมันถ่ายทอดใส่ Power Point เพื่อง่ายแก่การเข้าใจและถ่ายทอดของตัวเอง และไหนๆ ก็ทำแล้วและดูแปลกตาดีก็เลยเที่ยวแจกจ่ายเพื่อนมิตร ลูกศิษย์ลูกหาและลงคอลัมน์เสียเลย
ความคิดชี้นำของผมคือที่เรียกว่า "ขาลง" ของรัฐบาลทักษิณนั้น มันหยาบง่ายไป อุปมาอุปไมยดังกล่าวทำให้นึกเห็นภาพรัฐบาลกำลังตกบันไดดิ่งชะลูดปรูดปราดลงมาข้างล่างท่าเดียว ซึ่งความเป็นจริงไม่ใช่เรียบง่ายทื่อๆ เถรตรงเช่นนั้น หากสลับซับซ้อนกว่าและต้องพูดให้รัดกุมกว่านั้น
มันไม่ใช่เรื่องของ "ขาลง" (in decline or a downward / downhill trend) เท่ากับรัฐบาลกำลังประสบกับ "เพดานความเป็นไปได้" (ceiling) และ "พื้นฐานพลังการเมือง" (floor) ที่กดดันกระหนาบเข้ามาทำให้พื้นที่ในการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว(room of maneuver) เดินหมากทางนโยบายและมาตรการของรัฐบาลหดกระชับแคบลง
พูดง่ายๆ คือในปีหน้ารัฐบาลทักษิณน่าจะทำอะไรต่อมิอะไรได้น้อยลง, ยากขึ้น และสัมฤทธิผลต่ำกว่าความคาดหมาย เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา
ทำไม?
ก่อนเล่าสู่กันฟัง ผมควรแจ้งว่าแรงบันดาลใจให้คิดดังกล่าวมาจากข้อวิเคราะห์วิจารณ์ของครูพักลักจำ 2 ท่าน ได้แก่ อาจารย์สุวินัย ภรณวลัย ในคำอภิปรายเรื่อง "Thaksinomics" ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 23 สิงหาคม พ.ศ.2547, และอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในบทความเรื่อง "ความชอบธรรมทางการเมือง" , มติชนรายวัน, 19 ธ.ค.2548, น.6
รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลที่ทะเยอทะยานมากที่สุดในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมาในอันที่จะเปลี่ยนประเทศไทย ผมอยากสรุปรวบยอดโครงการหรือ Project ในการเปลี่ยนประเทศไทยของรัฐบาลทักษิณว่าได้แก่ Thaksinomics & Thaksinocracy กล่าวคือ
1) แปรการเลือกตั้งให้เป็นแบบทักษิณ ณ ไทยรักไทย
กล่าวคือแปรกระบวนการได้มาซึ่งอำนาจ ผ่านการเลือกตั้งในระบอบเลือกตั้งธิปไตย (electocracy) แต่เดิมของไทย ให้เป็นระบอบที่รวมศูนย์ครอบงำโดยพรรคเด่นพรรคเดียวคือพรรคไทยรักไทย
ถ่ายโอนฐานเสียงจากบรรดานักเลือกตั้งท้องถิ่น/นายหน้าการเมืองมาสู่สาขาจัดตั้งของพรรคในพื้นที่ต่างๆ โดยตรง
โยกย้ายอำนาจจากบรรดามุ้งการเมือง(factions) และหัวหน้ามุ้งอิสระมาขึ้นต่อศูนย์การนำของพรรคและหัวหน้าพรรค
ในรูปลักษณ์ความสัมพันธ์รวมศูนย์อำนาจจากบนลงล่างแบบ [สำนักงานใหญ่-->เช่น สโตร์ / ซูเปอร์สโตร์]
2) แปรไทยให้เป็นทุน
กล่าวคือทำให้เศรษฐกิจทุนนิยมไทยพัฒนากว้างขวาง ครอบคลุมขึ้นและหยั่งลึกขึ้นแผ่กว้างไปดูดกลืนทรัพยากรนานาชนิดในท้องที่ต่างๆ จากการกำกับดูแลของภาครัฐ / ภาคชุมชน ให้เข้ามาอยู่ในตลาดสินค้าภายใต้ระบบกรรมสิทธิ์เอกชนมากขึ้น (commodification & privatization of everything)
แยกสลายชนชั้นเกษตรกรรายย่อยลงไป(depeasantization),เปลี่ยนแปรพวกเขาส่วนน้อยราว 10-20% ที่เก่ง + เฮง ให้กลายเป็นผู้ประกอบการรายย่อยรุ่นใหม่ในตลาดระดับชาติและระดับโลก(bourgeoisification), ส่วนใหญ่ 80-90% ที่เหลือจะได้หลุดรากถอนโคนกลายเป็นคนงานรับจ้างไร้สมบัติ เที่ยวเร่ขายแรงในตลาดแรงงาน(proletarianization)
ภายใต้แนวทางประชานิยมเพื่อทุนนิยม(capitalist populism) ที่ "แปลงสินทรัพย์เป็นทุน แปลงตาสีตาสาเป็นเถ้าแก่(และกุลี)"
3) แปรรัฐให้เป็นแบบซีอีโอ
กล่าวคืออาศัยพลังทุนที่เหนือล้ำของกลุ่มทุนตนและพรรคพวก หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 + อำนาจบริหารที่เพิ่มพูนเนื่องจากรัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมือง 2540 ซึ่งออกแบบมาเพื่อสร้างเสริมภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี
ไปเปลี่ยนแปรกระบวนการใช้อำนาจรัฐโดยรวมศูนย์อำนาจรัฐเข้ามาไว้ที่ผู้นำรัฐบาล
บล็อคกลไกตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ และกลไกพร้อมรับผิดให้เป็นอัมพาต
รวบรัดตัดตอนความรับผิดชอบของผู้นำรัฐบาลให้เหลือวาระเดียวในทางปฏิบัติคือ การเลือกตั้งทั่วไป 4 ปีหน
เกิดระบบรวมศูนย์อำนาจอาญาสิทธิ์ของรัฐที่ เสมือนไร้ขอบเขตขีดจำกัดในทางปฏิบัติ ควบคู่กันไปกับระบบแห่งความไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองเหนือสิทธิในร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนพลเมือง โดยเฉพาะสิทธิในการแสดงความเห็นต่างวิพากษ์วิจารณ์ ทางสื่อสาธารณะของฝ่ายค้าน และเสียงส่วนน้อย
พลเมืองทั้งหลายจึงประหนึ่งกลายสภาพเป็น "ลูกจ้าง" ใต้การนำและการบังคับบัญชาเด็ดขาดของเถ้าแก่ซีอีโอตลอด 4 ปี ยกเว้นวันหนึ่งวันนั้นวันเดียวที่ได้เล่นบท "ผู้ถือหุ้น" สั้นๆ ชั่วอึดใจคูหาเลือกตั้ง ก่อนจะโผล่กลับออกมาดำเนินชีวิตทางการเมืองเป็น "ลูกจ้าง ของรัฐซีอีโอ ต่อไปตลอดไป
Project อันทะเยอทะยานดังกล่าวซึ่งอาจรวมเรียกได้ว่า "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ทุนจากการเลือกตั้ง" หรือ Elected Capitalist Absolutism มีอันสะดุดหยุดลงในรอบปีที่ผ่านมา เนื่องจากเหตุปัจจัยหลายประการซึ่งมี [ปรากฏการณ์สนธิ] เป็นตัวแสดงออกอย่างรวมศูนย์
2. ที่เรียกว่าสองนัคราประชาธิปไตย"
"ที่เขาบอกว่า คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพฯล้มรัฐบาล มันใช้ไม่ได้สำหรับพรรค(ไทยรักไทย)เราหรอก เพราะพรรคเรามันตั้งด้วยทั้งคนกรุงเทพฯและคนต่างจังหวัด และรัฐบาลของเราก็อยู่ด้วยคนกรุงเทพฯและคนต่างจังหวัด มันคนละเรื่อง มันนำมาใช้กันไม่ได้ แต่ว่าจะประมาทไม่ได้"
นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
กล่าวมอบนโยบายให้ ส.ส.ในการสัมมนาพรรค 18 ธ.ค.2548
ทฤษฎี "สองนัคราประชาธิปไตย" (A Theoryof Two Democracies) ซึ่งอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เสนอไว้ในหนังสือสองนัคราประชาธิปไตย : แนวทางการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ เพื่อประชาธิปไตย (2538) ตั้งแต่เมื่อสิบปีก่อนไม่ได้มีแค่ "คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพฯล้มรัฐบาล" อันเป็นผลลัพธ์ข้อสรุปเชิงปรากฏการณ์ส่วนหนึ่งที่ทฤษฎีนี้เข้าไปจับเท่านั้น อีกทั้งข้อสรุปสองประโยคดังกล่าวก็ยังขาดตกบกพร่อง ไม่รัดกุม ชวนให้ไขว้เขวได้
เท่าที่ผมตีความเข้าใจ ทฤษฎี "สองนัคราประชาธิปไตย" มีข้อเสนอหลักๆ ดังนี้คือ
1) ความแตกต่างเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมระหว่าง [นัคราประชาธิปไตยในเมือง] โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครซึ่งเป็น "เมืองโตเดี่ยว"-กับ [นัคราประชาธิปไตยในชนบท] อันกว้างใหญ่ไพศาลทั่วประเทศนำไปสู่....
แบบแผนพฤติกรรมการเมืองที่ต่างกันสุดขั้วระหว่างคนชั้นกลางในเมืองโดยเฉพาะ กทม.กับชาวนาชาวไร่ในชนบท ทำให้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยแยกขั้วแบ่งข้าง
ไม่เป็นระบอบหนึ่งเดียวที่มีเอกภาพ หากเสมือน "อกแตก" แยกออกเป็น "สองนัคราประชาธิปไตย" ในเมืองกับในชนบท
2) กล่าวคือ คนชั้นกลางในเมืองฐานะมั่งคั่งกว่า ได้รับโอกาสทางการศึกษาและเศรษฐกิจสมัยใหม่ รวมทั้งเข้าถึงสื่อสารมวลชนและสถาบันการเมือง-ราชการได้ดีกว่า จะเล่นบทส่งอิทธิพลเป็นฐานนโยบายของรัฐบาล
ขณะที่ชาวนาชาวไร่ในชนบทยากไร้กว่า ขาดด้อยโอกาสทางการศึกษาและเศรษฐกิจสมัยใหม่ และเอื้อมไม่ค่อยถึงสื่อสารมวลชนและสถาบันการเมือง-ราชการ จึงมักไม่สามารถส่งอิทธิพลไปกำหนดนโยบายของรัฐบาลได้ แต่กระนั้นก็อาศัยจำนวนประชากรในชนบทที่มีมากกว่า กลับกลายเป็นฐานเสียงสำคัญที่สุดของรัฐบาลในการชนะเลือกตั้งไป
รัฐบาลแห่งระบอบ "สองนัคราประชาธิปไตย" จึงมีฐานเสียงอยู่ที่ชนบท (based on rural constituencies) แต่กลับมีนโยบายลำเอียงเข้าข้างเมือง (urban-biased policy)
3) รัฐบาลในลักษณะนี้ย่อมไร้เสถียรภาพยิ่ง เพราะด้านหนึ่งความโง่-จน-เจ็บของฐานเสียงชนบทเปิดช่องให้การเลือกตั้งในชนบท ถูกครอบงำผูกขาดโดยเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลผ่านระบบหัวคะแนน ซึ่งสามารถอาศัยชัยชนะในการเลือกตั้งชำระชะฟอกและดีดเด้งตัวเองทางการเมือง ตีลังกาไปนั่ง "กินบ้านกินเมือง" เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติในเมืองหลวง แล้วรวมตัวกันเป็นมุ้งการเมืองต่อรองเอาตำแหน่งบริหารเข้าไปนั่งคุมกระทรวงทบวงกรมอยู่ในคณะรัฐมนตรีอีกต่อหนึ่ง
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อใช้อำนาจรัฐรวมศูนย์ส่วนกลางผัน [งบประมาณและทรัพยากรของหลวง + ค่าเช่าเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ + เงินทุจริตติดสินบาทคาดสินบน] ย้อนกลับมาหล่อเลี้ยงเส้นสายเครือข่ายเลือกตั้งอุปถัมภ์ของตนจาก [ครม.> มุ้ง > ส.ส. > เจ้าพ่อ > หัวคะแนน > ชาวบ้านในพื้นที่] ไว้เป็นฐานเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
เป็นเรื่องง่ายที่จะชี้หน้าด่าประฌามว่า นี่เป็นความชั่วร้ายเลวทรามทางศีลธรรมส่วนตัวของ "คนไม่ดี" ที่ได้รับเลือกตั้งขึ้นมามีอำนาจ ซึ่งก็คงมีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย ทว่าที่ยากยิ่งกว่าคือมองทะลุทะลวงไปถึงเหตุปัจจัยเชิงโครงสร้างว่าบรรดา "นักเลือกตั้ง" เหล่านี้ถูก "ล็อค" ด้วยระบบให้ต้องทุจริต มิฉะนั้นก็มิอาจหาเงินมาอุปถัมภ์ช่วยเหลือชาวบ้าน และหว่านซื้อรักษาฐานเสียงไว้ได้
เพราะหากแม้นแทนที่จะอาเงินมาซื้อเสียง พวกเขาจะเลือกซื้อใจชาวบ้านด้วยการเสนอและผลักดันนโยบายที่ชาวบ้านชนบทมีส่วนร่วมกำหนด และสะท้อนแทนตามผลประโยชน์ของตัวเองอย่างแท้จริง, ก็มิอาจทำได้อีกเหมือนกัน เพราะตลาดนโยบายของรัฐถูก "ล็อค" ไว้เสียแล้ว โดยคนชั้นกลางชาวเมืองผู้พูดได้ไอดัง ครอบงำสื่อสารมวลชนทางแนวคิด และวิถีชีวิตในฐานะผู้บริโภคสื่อกลุ่มใหญ่ที่สุด จนสามารถเป็นฐานนโยบายส่งอิทธิพลกดดัน กำหนด ตีกรอบ จำกัดนโยบายหลักของรัฐให้ลำเอียงเข้าข้างเมืองเรื่อยมาได้
แม้จะถูก "ล็อค" ด้วยระบบให้ทุจริต แต่ [เจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล-นักเลือกตั้ง-นายหน้าการเมือง] เหล่านี้ก็เป็นผู้ได้เปรียบ ได้เสวยอำนาจและผลประโยชน์ในระบบที่ล็อคเขาไว้นั้น พวกเขาจึงตกเป็นเป้าโจมตีวิพากษ์วิจารณ์ดูหมิ่นเกลียดชังของคนชั้นกลางชาวเมือง ทั้งในแง่ความชั่วร้ายทางศีลธรรม, ความคับแคบของโลกทัศน์, ความเป็นท้องถิ่นบ้านนอกทางวัฒนธรรม, การขาดทักษะความรู้ประสบการณ์และด้อยประสิทธิภาพในการบริหารรัฐกิจ - เศรษฐกิจสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์ อันนำไปสู่ปรากฏการณ์ซ้ำซากที่.....
"คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพฯล้มรัฐบาล" หรือพูดให้ครบถ้วนรัดกุมขึ้นก็คือ
"คนต่างจังหวัดเลือกเจ้าพ่อไปตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพฯล้มรัฐบาลของเจ้าพ่อ" นั่นเอง
4) สภาวะ "สองนัคราประชาธิปไตย" มิเพียงทำให้ "นัคราประชาธิปไตยในเมือง" กับ "นัคราประชาธิปไตยในชนบท" แปลกแยกไม่เข้าใจกันเท่านั้น หากยังทำให้มันบั่นทอนกำลังซึ่งกันและกัน กีดขวางการพัฒนาก้าวหน้าของกันและกันด้วย กล่าวคือ
ด้านหนึ่ง มันทำให้การเมืองระดับชาติตกอยู่ใต้การนำการบริหารของชนชั้นนำนักเลือกตั้งจากบ้านนอก-ท้องถิ่น ผู้มีวิสัยทัศน์และจิตตารมณ์มุ่งเน้นเฉพาะถิ่นของตน และขาดแคลนทักษะความรู้ประสบการณ์อันทันสมัยที่จำเป็นและเหมาะสม
อีกด้านหนึ่ง มันก็ทำให้การเมืองท้องถิ่นตกอยู่ใต้นโยบายชี้นำและการตัดสินใจ ที่กำหนดอย่างรวมศูนย์มาจากส่วนกลางระดับชาติ แทนที่จะเริ่มต้นและเกาะติดสภาพความเป็นจริง และเป็นไปได้ในท้องถิ่นรวมทั้งผลประโยชน์ ความเรียกร้องต้องการและวัฒนธรรมประเพณีของชาวบ้านในพื้นที่อย่างแท้จริง
การเมืองระดับชาติถูกยึดกุมเหนี่ยวรั้งโดยชนชั้นนำผู้มีอิทธิพลจากท้องถิ่นมากไป (คนกรุงเทพฯจึงไม่พอใจและลุกขึ้นโค่นรัฐบาลเจ้าพ่อซ้ำซาก) ในทางกลับกันการเมืองท้องถิ่นกลับตกอยู่ใต้การชี้นำกำหนดจากนโยบายระดับชาติของส่วนกลางอย่างรวมศูนย์เกินไป
(ชาวบ้านชนบทจึงต้องพึ่งพาการอุปถัมภ์ของเจ้าพ่อแต่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้เรื่อยมา)
5) อาจารย์เอนกได้เสนอแนวทางปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจเพื่อหลุดพ้นสภาวะ "สองนัคราประชาธิปไตย" ไว้พอสรุปได้ว่า:-
- แก้ไขลักษณะรวมศูนย์ (centralist) และผูกขาดอธิปัตย์ (monist) ของรัฐด้วยการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเองอย่างเสรีประชาธิปไตย และแบ่งปันอำนาจให้กลุ่มเอกชนต่างๆ ในสังคมดูแลจัดการตนเองอย่างเป็นเอกเทศ (น.42, 61)
- ทำให้การเมืองระดับชาติถูกกำหนดโดยปัจจัยและอิทธิพลท้องถิ่นน้อยลง (delocalization of national politics) และทำให้การเมืองท้องถิ่นถูกจำกัด หรือถูกกำหนดโดยส่วนกลางให้น้อยลง (denationalization of local politics) (น.52)
- ทำอย่างไรให้คนชั้นกลางไม่เป็นเพียงฐานนโยบาย หากเป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองได้ด้วย ไม่เพียงแต่ล้มรัฐบาล หากตั้งรัฐบาลได้ด้วย, ในทางกลับกันทำอย่างไรให้ชาวนาชาวไร่ไม่เป็นเพียงฐานเสียง หากเป็นฐานนโยบายได้ด้วย ไม่เพียงแต่ตั้งรัฐบาล หากควบคุมและถอดถอนรัฐบาลได้เช่นกัน (น.12)
- แก้ไขช่องว่างแตกต่างทางเศรษฐกิจสังคมระหว่างเมืองกับชนบท โดยพัฒนาเมืองขนาดเล็กในชนบท (ซึ่งมีเกษตรกรรมทันสมัยและอุตสาหกรรมท้องถิ่นขนาดเล็ก) และเมืองขนาดกลางในภูมิภาค (ซึ่งมีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม) ขึ้นมาให้กลายเป็นส่วนหลักของประเทศ มีหมู่บ้านล้าหลังยากจนและกรุงเทพฯ เป็นเพียงส่วนประกอบ (น.64,75)
นี่คือสภาวะทางการเมืองแต่เดิมที่รัฐบาลทักษิณ ณ ไทยรักไทยทะเยอทะยานจะเปลี่ยนแปลงในการครองตำแหน่งสมัยแรก - ไม่ใช่ตามแนวทางปฏิรูปที่อาจารย์เอนกเสนอ หากแต่ด้วยโครงการทักษิโณมิคส์ + ทักษิณาธิปไตยของตนเอง - จนกระทั่งมันสะดุดหยุดกึกลงในรอบปีที่ผ่านมา
กระบวนการดังกล่าวดำเนินมาอย่างไร ? ด้วยเหตุผลใด ? จะขอกล่าวต่อไปข้างหน้า
3. ที่เรียกว่าสัญญาประชาคมใหม่
เจ้าของทฤษฎีสองนัคราประชาธิปไตย เคยบอกผมตั้งแต่ครั้งยังสอนหนังสืออยู่ด้วยกันที่ธรรมศาสตร์ว่า ในเมืองไทย มีพลังการเมืองเพียงสองพลังเท่านั้นที่สนใจชาวนาจริงจัง คือ ๑. พคท. ๒. ศักดินา. พูดตามความเข้าใจด้วยภาษาของผมก็คือ ใครคิดกุมอำนาจนำเหนือชาติไทย ต้องขบแก้จัดการปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบทไทยให้จงได้
พคท.ใช้ยุทธศาสตร์ปฏิวัติ "ชนบทล้อมเมือง" ตามประธานเหมา เจ๋อ ตุง ที่สรุปเป็นสูตรว่า...อาศัยชาวนาดำเนินสงครามประชาชน สร้างฐานที่มั่นในชนบท ใช้ชนบทล้อมเมือง แล้วเข้ายึดเมืองในที่สุด...แต่ล้มเหลว ก็แล้วถ้า พคท.ยึดอำนาจสำเร็จ จะพัฒนาประเทศอย่างไร?
หากดูตัวอย่างจีนยุคเหมาฯ เมื่อยึดอำนาจรัฐได้แล้วก็ไม่ยอมเดินหนทางการพัฒนาแบบทุนนิยม และหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบสหภาพโซเวียต โดยพยายามรักษาดุลยภาพระหว่างเมืองกับชนบทไว้ ไม่ให้เกิดช่องว่างถีบห่างแตกต่างกันเกินไป ประสานจังหวะก้าวการพัฒนาเมือง-ชนบทเข้าหากัน สร้างสรรค์อุตสาหกรรมท้องถิ่นควบคู่ไปกับเกษตรกรรมในคอมมูน จำกัดควบคุมการเคลื่อนย้ายประชากร โดยเฉพาะจากชนบทสู่เมืองอย่างเข้มงวด ฯลฯ
แต่กระนั้น เมื่อดูแนวโน้มภาพรวมในระยะยาว เอาเข้าจริงจีนยุคเหมาฯก็ยังโอนย้ายถ่ายเทส่วนเกินทางเศรษฐกิจ (economic surplus) จากภาคเกษตรในชนบ ไปสร้างอุตสาหกรรมหนักในเมืองผ่านกลไกบริหารจัดการเศรษฐกิจของรัฐ เพื่อแก้ปัญหาการสะสมทุนขั้นปฐม (primitive accumulation of capital) ของการเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นแบบอุตสาหกรรม (industrialization) อยู่ดี
ขณะที่ตามตรรกะของการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม ชาวนา (the peasantry) เป็นชนชั้นที่ต้องจากไปทางประวัติศาสตร์ (depeasantization) คือต้องเกิดการแตกตัวทางชนชั้น (class differentiation) ออกเป็นกระฎุมพีกับกรรมาชีพ (bourgeoisie & proletariat) พร้อมกับการแทรกทะลวงของทุนนิยมเข้าสู่ชนบทยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับนั้น
ในเมืองไทย ทางเลือกการพัฒนาที่ถูกนำเสนอคือ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในกรอบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก โดยผูกทอสายใยเชื่อมโยงเมือง-ชนบท ผ่านโครงการพระราชดำริ นี่เป็นเรื่องราวก่อนตั้งพรรคไทยรักไทยและระบอบทักษิณได้อำนาจรัฐ
เพื่อกุมอำนาจนำเหนือชาติไทย รัฐบาลทักษิณ ณ พรรคไทยรัก ไทยได้เสนอสัญญาประชาคมใหม่เพื่อเชื่อมร้อยเมือง-ชนบท กล่าวคือ :-
จัดความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างเมืองกับชนบทเสียใหม่ โดยวางมันอยู่บนเงื่อนไขข้อแลกเปลี่ยนที่จะ [กระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองอย่างต่อเนื่อง] + [แล้วใช้กลไกภาษี, มาตรการกึ่งการคลัง และการตั้งงบฯ กลางถ่ายโอนรายได้ไปดำเนินนโยบาย "ประชานิยม" แบบอุปถัมภ์-บริโภคนิยมสำหรับคนชนบท] ผ่านการสื่อประสานและการนำแบบรวมศูนย์องค์เดียวของรัฐบาลทักษิณ ณ พรรคไทยรักไทย
นี่คือฐานที่มาของความเข้าใจตนเองว่า "พรรคเรามันตั้งด้วยทั้งคนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัด และรัฐบาลของเราก็อยู่ด้วยคนกรุงเทพฯและคนต่างจังหวัด" รวมทั้งวาทะเด็ดๆ ว่า "จังหวัดไหนมอบความไว้วางใจให้เรา ต้องดูแลเป็นพิเศษ...จังหวัดที่ไว้วางใจเราน้อย ต้องเอาไว้ทีหลัง"
เพื่อต่อสายตรงจาก [ผู้นำพรรค/รัฐบาล ---> ผ่าน รมว., ส.ส. และเจ้าหน้าที่ของพรรค/รัฐบาล ---> ไปยังคนชนบท] ก็ต้องตัดตอนนายหน้าคนกลางทางการเมืองหรือนัยหนึ่ง [เจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล-หัวคะแนน-นักเลือกตั้ง] ออกไปเสีย
นี่เป็นที่มาส่วนหนึ่งของนโยบาย "สงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด" และ "สงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะผู้มีอิทธิพล" ที่มุ่งขจัด "ทุนล้าหลัง-ท้องถิ่น, ค้ายาเสพติด, บ่อน, ซ่อง, หวยเถื่อน" ออกไปจากวงการเมือง (ถ้อยคำของชัยอนันต์ สมุทวณิช)
ดังที่ทักษิณพูดตรงไปตรงมาในที่สัมมนาพรรคไทยรักไทยเมื่อ 18 ธ.ค. ศกก่อนว่า :-
"คำว่าพรรคการเมืองที่หัวใจคือประชาชน คือเราดิวติดต่อตรงไปยังประชาชน นายหน้าค้าความจน นายหน้าค้าความอ่อนแอทางการเมือง ผู้ที่เสียสละประโยชน์จากการที่เราทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการปราบยาเสพติด ปราบผู้มีอิทธิพล หวยเถื่อน หรือแม้กระทั่งปราบนักธุรกิจเลวๆ พวกนี้มันก็ต้องยืนตรงข้ามเราเป็นเรื่องธรรมดาแน่นอน คนเหล่านี้คือประชาชน แต่เป็นประชาชนที่เป็นนายหน้ามาโดยตลอด วันนี้เราต้องการดิวกับประชาชนที่เป็นรากหญ้า ที่เป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ๆ ทั้งประเทศ ก็เป็นเรื่องธรรมดาของกระแสคัดค้าน...." (มติชนรายวัน, 19 ธ.ค. 2548, น.2)
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลทักษิณ ณ พรรคไทยรักไทย ยังมุ่งพลิกเปลี่ยนเศรษฐกิจสังคมชนบทอย่างถอนรากถอนโคนด้วยนโยบาย "แปลงสินทรัพย์เป็นทุน แปลงตาสีตาสาเป็นเถ้าแก่ SME." สร้างเงื่อนไขทางกฎหมาย ยั่วให้เกษตรกรรายย่อยน้ำลายหก ในอันที่จะเอื้อมถึงสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ แลกกับการเอาที่ดินปฏิรูปไปค้ำประกัน เพื่อนำเงินมาเสี่ยงลงทุนทำธุรกิจ SME.
ส่วนที่ละไว้ในฐานที่ (มึงควร) เข้าใจ (เอาเอง) ระหว่างบรรทัดคือ :-
"แปลงสินทรัพย์เป็นทุน แปลงตาสีตาสา (ที่เก่งกับเฮง 10-20%) เป็นเถ้าแก่ (ส่วนตาสีตาสาที่ห่วยกับซวยอีก 80-90% ก็สมควรแล้วที่จะล้มละลายสิ้นเนื้อประดาตัว ถูกแปลงเป็นลูกจ้างของเถ้าแก่ไป)"
นับเป็นการเร่งรัดกระบวนการแยกสลายชนชั้นชาวนา (depeasantization) ให้แตกตัวทางชนชั้นออกเป็นเถ้าแก่กระฎุมพีและลูกจ้างกรรมาชีพรวดเร็วยิ่งขึ้น ชนชั้นเกษตรกรรายย่อยที่อำเภอ"อาจสามารถ" จังหวัดร้อยเอ็ด และที่อื่นๆ ทั่วประเทศเหล่านี้แหละคือ "คนจน" ที่จะต้องถูกขจัดให้หมดไปเพื่อเห็นแก่ความมั่งคั่งของประเทศชาติ
เมื่อเอาสัญญาประชาคมใหม่ + สงครามต่อสู้เพื่อขจัดตัดตอนนายหน้าคนกลางทางการเมือง + นโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน แปลงตาสีตาสาเป็นเถ้าแก่กับลูกจ้าง มาวางเรียงเคียงกัน เราก็จะเห็นแนวนโยบายเต็มหน้ากระดานทั้งทางการเมือง + การสร้างพรรค + การเลือกตั้ง + การพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณ เพื่อพลิกเปลี่ยนเงื่อนไขความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบท ให้หลุดพ้นภาวะตีบตันตามทฤษฎี "สองนัคราประชาธิปไตย" ออกไป
เป็นแนวนโยบายที่หากลองเปรียบเทียบกับข้อเสนอปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจเพื่อประชาธิปไตยของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ แล้ว ก็ยิ่งขุดรากถอนโคน เร่งร้อน รวบรัด และเด็ดขาดเหี้ยมเกรียมกว่ามาก. พูดตามความเห็นของอัมมาร สยามวาลา ก็คือ ดูๆ ไปเอาเข้าจริงนโยบายของรัฐบาลทักษิณนี้ อคติลำเอียงเข้าข้างเมืองยิ่งแรง
รัฐบาลทักษิณ ณ พรรคไทยรักไทยสมัยแรกดำเนินแนวนโยบายนี้ไปได้ระดับหนึ่ง เห็นความเปลี่ยนแปลงบ้างบางด้าน โดยเฉพาะชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป ต้นปี 2548 ที่ฮือฮามาก อย่างไรก็ตาม ในปีเดียวกันนี้เอง บรรดาเงื่อนไขซึ่งเอื้ออำนวยแก่แนวนโยบายดังกล่าว ก็เริ่มคลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปจนดูเหมือนมันติดแหง็ก ชนเพดาน ยากจะผลักดันต่อไปได้
วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น