วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551

4.Krugman และทฤษฏีการค้าระหว่างประเทศ

Krugman และทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศใหม่
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ จุนอนันตธรรม สถาบันวิจัยสังคมและเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้จัดการรายวัน วันที่ 3 พฤษภาคม 2548
ในบทความสองเรื่องที่นักวิชาการของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้เขียนเกี่ยวกับ Paul Krugman นั้น นอกจากประวัติสั้นๆของนักเศรษฐศาสตร์มีชื่อเสียงคนนี้ ซึ่งปัจจุบันอายุ 52 ปี และจบปริญญาเอกจาก MIT เมื่ออายุเพียง 24 ปีแล้ว บทความที่กล่าวถึงข้างต้นยังได้อธิบายถึงผลงานวิชาการและงานเขียนอื่นๆ ตลอดจนความกล้าของ Krugman ที่จะแสดงออกและโต้แย้งโดยอาศัยตรรกะทางเศรษฐศาสตร์และข้อเท็จจริงผสมผสานกันในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการวิพากษ์นโยบายและมาตรการของรัฐบาลอเมริกันภายใต้ประธานาธิบดีบุช จูเนียร์ ได้อย่างน่าฟังและตรงไปตรงมา
ในบทความนี้ ผมจะเขียนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของ Krugman ในการพัฒนาทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศทฤษฎีใหม่
ถ้าเราติดตามผลงานทางวิชาการของ Krugman ดูก็จะพบว่า โดยส่วนตัวของ Krugman แล้วมีความสนใจวิชาเศรษฐศาสตร์ใน 2 สาขาใหญ่ๆ ซึ่งได้แก่สาขาเศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ และสาขาเศราฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศ ความสนใจของ Krugman ในเศรษฐศาสตร์ทั้ง 2 สาขานี้มีมาตั้งแต่ที่เรียนจบจาก MIT ในปี ค.ศ.1977 แล้ว ซึ่งเห็นได้จาก งานวิชาการทางทฤษฎีและงานวิจัยเชิงประจักษ์ ที่เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1970-1979 เช่น งานเขียนทางด้านการเงินระหว่างประเทศเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน ชื่อ Purchasing Power Parity: Another Look at the Evidence (1978) ที่ตีพิมพ์ใน Journal of International Economics และ A Model of Balance-of-Payments Crisis (1978) ใน Journal of Money, Credit and Banking ต่อมา Krugman ก็มีงานในด้านเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนในแง่มุมต่างๆ การปรับตัวของเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจเปิด หนี้ต่างประเทศของประเทศกำลังพัฒนา และวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ รวมทั้งของเอเชีย ในช่วงภายหลัง 1997 ด้วย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผมเองแล้ว Krugman มีผลงานที่โดดเด่นในสาขาทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศมากกว่า โดยเป็นคนหนึ่งในจำนวนน้อยที่นับได้ไม่เกินนิ้วมือของเรา เช่น E. Helpman, A. Dixit, V.Norman และ W. Echier เป็นต้น Krugmanมีบทบาทเริ่มแรกที่สำคัญในบทความชื่อ Increasing Returns, Monopolistic Competition and International Trade (1979) ที่ตีพิมพ์ใน Journal of International Economics และมีบทความเพิ่มเติมอีกกว่า 10 บทความต่อมา ที่อยู่ในรูปของหนังสือรวบรวมบทความทางวิชาการของเขา ชื่อ Rethinking International Trade ในปี 1990 นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มเล็กๆนี้ได้แยกกันและร่วมกันพัฒนาทฤษฎีจนเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในที่สุด โดยเรียกรวมกันว่า “ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศใหม่” (New Trade Theory)
ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศดั้งเดิมนั้นอธิบายถึงว่าทำไมประเทศหนึ่งๆ ภายใต้การค้าเสรีจึงส่งสินค้าออกชนิดหนึ่ง และนำเข้าสินค้าอีกชนิดหนึ่ง สินค้าที่ส่งออกและนำเข้าจะเป็นสินค้าคนละชนิดกัน ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยส่งออกข้าว และนำเข้านมผง เป็นต้น นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากดั้งเดิมที่อธิบายว่า การค้าระหว่างประเทศในสินค้าที่มาจากต่างสาขาการผลิต (Inter-commodity หรือ Inter-industry) นั้น ได้แก่ Ricardo และ Heckscher-Ohlin ทฤษฎีที่ใช้ก็คือ ทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่าสินค้าออกที่เราส่งออกไป มีค่าผลิตที่แท้จริง โดยเปรียบเทียบต่ำกว่า และมีราคาที่แท้จริงวัดในสกุลเงินเดียวกันที่ถูกกว่า สินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตที่ต่างประเทศ ในขณะเดียวกันประเทศเรา ก็นำเข้าสินค้าที่ต่างประเทศผลิต ได้ด้วยค่าผลิตที่แท้จริงเปรียบเทียบต่ำกว่า และมีราคาที่แท้จริงถูกกว่าเรา ประเทศคู่ค้าจึงได้ประโยชน์จากการค้าที่เสรี นอกจากนี้แล้ว ประเทศหนึ่งๆจะไม่มีทางที่จะมีความเสียเปรียบโดยเปรียบเทียบในทุกๆสินค้ากับประเทศคู่ค้า พูดง่ายๆคือ ทุกๆประเทศจะมีโอกาสที่จะผลิตสินค้าส่งออกบางชนิดที่ตนเองมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบเสมอ
Krugman และพวก ไม่ได้ปฏิเสธความถูกต้องของทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ ที่วิเคราะห์การค้าระหว่างประเทศ จากความแตกต่างของประสิทธิผลของปัจจัยการผลิต (เช่น แรงงาน) หรือความมากน้อยโดยเปรียบเทียบกันของปัจจัยการผลิต (แรงงานและทุน) ที่ประเทศคู่ค้ามีอยู่ แม้จะยอมรับว่าทฤษฎีดังกล่าวนี้ สามารถอธิบายการค้าขายของโลกได้สูงถึงร้อยละ 75 ของสินค้าที่ค้าขายกันทั้งหมด แต่ก็มีสินค้านำเข้าและส่งออกอีกจำนวนหนึ่งที่เหลืออยู่ร้อยละ 25 ที่ทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ ไม่สามารถใช้อธิบายได้ เพราะเป็นการค้าขายกันภายในกลุ่มประเภทสินค้าเดียวกัน (intra-industry trade) จึงเกิดทฤษฎีการค้าใหม่ (New Trade Theory) ที่อธิบายการค้าในรูปแบบนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ภายใต้การค้าเสรี ประเทศนึ่งอาจจะมีทั้งการส่งออกรถยนต์ และนำเข้ารถยนต์ด้วยก็เป็นไปได้
คำอธิบายที่สำคัญมี 2 ส่วน คือ (ก) ผู้บริโภคสินค้าในประเทศต่างๆมีรสนิยม ในการใช้สินค้าที่มีความแตกต่างหลากหลาย แม้ว่าเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน (differentiated products) เช่น รถยนต์ดังที่เป็นตัวอย่างข้างต้น (ข) ฝ่ายผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมประเภทที่กล่าวถึงนั้นๆ มักจะได้เปรียบคู่แข่ง ถ้าผลิตสินค้าได้จำนวนมากๆ
นักเศรษฐศาสตร์ใช้คำว่าการประหยัดจากขนาดการผลิต ซึ่งเกิดจากการผลิตสินค้าได้ครั้งละมากๆของหน่วยผลิต(firm)หนึ่งๆ หรือเกิดจากการเรียนรู้สะสมที่มาจาก ปฏิสัมพันธ์ของทุกหน่วยผลิตภายในอุตสาหกรรมนั้น ประสบการณ์การผลิตสินค้าที่ต่อเนื่อง มายาวนานของขนาดการผลิตที่ใหญ่ขึ้นของทุกหน่วยผลิตรวมกันในอุตสาหกรรม ทำให้ค่าผลิตเฉลี่ยต่อหน่วยลดลงได้ในระยะยาว (internal and external economics of scale) ซึ่งรวมเรียกเป็นคำเทคนิคทางเศรษฐศาสตร์ว่า increasing returns นั่งเองครับ
ดังนั้นลักษณะของตลาด สินค้าที่มีการค้าระหว่างประเทศแบบ Intra-industry นั้นจึงมีแนวโน้มเป็นตลาดสินค้าที่ไม่มีการ แข่งขันสมบูรณ์ ซึ่งไม่เหมือนกับของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมที่กล่าวถึงข้างต้น ที่สมมติให้มีการแข่งขันสมบูรณ์ ในตลาดสินค้าที่มีการค้าระหว่างประเทศ ผู้ผลิตสินค้าประเภท Intra-industry trade นั้นจึงมีแนวโน้มที่จะได้กำไรส่วนเกิน จากการมีลักษณะการผูกขาดได้ ตลอดจนการประหยัดจากขนาดการผลิตที่ทำให้ค่าผลิตเฉลี่ยต่อหน่วยสินค้าลดลง ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าและอุตสาหกรรมที่จะต้องศึกษาเป็นกรณีไป
อย่างไรก็ตาม ก็มีแบบจำลองย่อยภายใต้ intra-industry trade ที่หลากหลายเช่นกรณีแบบจำลอง monopolistic competition ที่แสดงไว้ว่าประเทศคู่ค้าทั้ง 2 ประเทศจะได้ประโยชน์จากการค้าเสรี แต่ประโยชน์ที่ได้มาจากการที่ผู้บริโภค สามารถเลือกสินค้าชนิดต่างๆ ได้มากขึ้น และมีราคาถูกลงกว่าภายใต้กรณีที่ไม่มีการค้าระหว่างประเทศแบบเสรี
ผลประโยชน์ของทฤษฎีการค้าใหม่ต่อการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาลย่อมขึ้นอยู่กับความเข้าใจในทฤษฎีนี้ และรายละเอียดของข้อมูลของแต่ละอุตสาหกรรมของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับ increasing returns ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เฉกเช่นเดียวกับกรณีที่รัฐบาลไทยต้องประสบในการนำเอาความคิดเรื่อง clusters ของ Michael Porter มาใช้เป็นแนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ผู้อ่านที่เข้าร่วมสัมมนา Warning System: Positioning of Thailand and Southeast Asia โดย Professor Paul Krugman (17-18 พฤษภาคม 2548) น่าจะลองถาม Krugman ดูว่าประเทศไทยซึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศเล็กๆในเวทีการค้าของโลกนั้น จะได้ประโยชน์อะไรและมากน้อยแค่ไหนจากการพยายามนำเอา New Trade Theory มาใช้บ้าง ผมเองพอมีคำตอบของส่วนตัว แต่ผมไม่ทราบว่า Krugman จะตอบท่านอย่างไร
*ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อนำสู่การสัมมนา “Warning System; Positioning of Thailand & Southeast Asia” by Paul Krugman วันที่ 17-18 พฤษภาคม 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น