สถานการณ์ของบริษัทเฟรดดี้ แมค (Freddie Mac) และแฟนนี่ เม (Fannie Mae)
สถานการณ์ของบริษัทเฟรดดี้ แมค (Freddie Mac) และแฟนนี่ เม (Fannie Mae)
สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน ขอรายงานสถานการณ์ของบริษัทเฟรดดี้ แมค (Freddie Mac) และบริษัทแฟนนี่ เม (Fannie Mae) สองสถาบันด้านสินเชื่อสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของสหรัฐฯ หลังจากที่ประกาศภาวะขาดทุนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้กว่า 3 เท่า จากผลของวิกฤติสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ดังนี้
1. มุมมองของนักวิเคราะห์และนักลงทุน
นักวิเคราะห์ของนิตยสารบารอนส์ (Barron’s) ได้กล่าวถึงสถานการณ์ของบริษัทแฟนนี่ เม และเฟรดดี้ แมค ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังกดดันใหัสถาบันการเงินทั้งสองแห่งเร่งระดมทุน เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักซึ่งส่งผลให้เงินทุนสำรองของทั้งสองบริษัทลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงสองถึงสามไตรมาสที่ผ่านมา และได้แสดงความคิดเห็นว่า มีความเป็นไปได้สูงที่สถาบันการเงินทั้งสองแห่งอาจไม่สามารถระดมทุนได้เพียงพอเพื่อกอบกู้วิกฤติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งการไม่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนครั้งใหม่นั้น จะเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าไปแทรกแซงการดำเนินงาน และเพิ่มแนวโน้มที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ อาจต้องอัดฉีดเงินทุนโดยการซื้อหุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) ซึ่งมาตรการดังกล่าวนับเป็นการโอนกิจการของสถาบันการเงินทั้งสองแห่งมาเป็นของรัฐ และจะเป็นการขจัดผู้ถือหุ้นสามัญของทั้งสองบริษัทซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและผู้ถือครองตราสารหนี้ด้อยสิทธิ (Subordinate bondholder) ที่มีมูลค่ารวมกว่า 1.9 หมื่นล้านเหรียญสรอ. และจะส่งผลให้ยอดหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 ของยอดหนี้สาธารณะในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ความคิดเห็นในเชิงลบของนักวิเคราะห์ข้างต้น ประกอบกับที่รัฐมนตรีว่าการคลังสหรัฐฯ(นาย เฮนรี พอลสัน) ปฏิเสธที่จะออกความเห็นเกี่ยวกับเรื่องกล่าว ได้ส่งผลให้ราคาหุ้นของสถาบันการเงินทั้งสองแห่งปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 20 ปีทางด้านบริษัทเฟรดดี้ แมค ที่เคยประกาศเป้าหมายการระดมทุนไว้ที่ 5.5พันล้านเหรียญสรอ. หรือกว่า 2 เท่าของมูลค่ารวมของบริษัทในปัจจุบัน ได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนและนักวิเคราะห์เป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ต้นทุนในการระดมทุนผ่านตลาดพันธบัตรของบริษัทเฟรดดี้ แมค ครั้งล่าสุดเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้บริษัทเฟรดดี้แมค ประสบความยุ่งยากในการระดมทุนเพิ่มเติม และยังไม่สามารถระดมทุนได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
2. ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ บริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการลงทุนได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นบุริมสิทธิของทั้งบริษัทแฟนนี่ เม และบริษัท เฟรดดี้ แมค จากระดับ A1 มาอยู่ที่ระดับ Baa3 และลดอันดับความน่าเชื่อถือของความแข็งแกร่งทางการเงิน (bank financial strength rating) จากระดับ B-minus มาเป็นระดับ D-plus เนื่องจากการระดมทุนของสถาบันการเงินทั้งสองแห่งเป็นไปได้ยากขึ้น
ซึ่งส่งผลให้ความเป็นไปได้สูงที่จะต้องรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ตามที่กล่าวข้างต้นอย่างไรก็ตาม บริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ยังคงระดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงสูง (senior debt) ให้อยู่ที่ระดับ Aaa และระดับ Aa2 สำหรับตราสารหนี้ด้อยสิทธิ
3. ความเห็นจากภาคการเงิน
ก่อนหน้านี้ นายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ออกมาสนับสนุนให้รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้มาตรการกอบกู้วิกฤติของบริษัทแฟนนี่ เม และเฟรดดี้ แมค ด้วยการเข้าครอบครองสถาบันการเงินทั้งสองแห่งอย่างเต็มรูปแบบและแยกสถาบันการเงินทั้งสองแห่งออกเป็นองค์กรขนาดเล็กลง เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน โดยแนวความคิดดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากนายเจฟฟรีย์ แล็คเกอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขา
ริชมอนด์ อย่างไรก็ตาม นายแกรี่ สเติร์นส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขามินนาโพลิส มีความคิดเห็นที่ต่างออกไป โดยสนับสนุนมาตรการของรัฐบาลที่ให้การช่วยเหลือในระยะนี้โดยมีเป้าหมายให้สถาบันการเงินด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทั้งสองแห่งยังสามารถดำเนินกิจการได้ต่อไป
ภาวะดุลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ประจำเดือนเมษายน 2551
ภาวะดุลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ประจำเดือนเมษายน 2551
สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (Bureau of Economic Analysis: BEA) ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้รายงานภาวะดุลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ประจำเดือนเมษายน 2551 ว่ายังคงมีการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง และขาดดุลที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
โดยในเดือนเมษายนนี้ สหรัฐฯ มีดุลการค้า (Trade Balance) ขาดดุลอยู่ที่ระดับ 60.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขาดดุลเพิ่มขึ้นจำนวน 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ที่ขาดดุลอยู่ที่ 56.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในเดือนเมษายนนี้ มีมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการ (Export) จำนวน 155.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในเดือนมีนาคม โดยสินค้าและบริการที่สหรัฐฯ มีการส่งออกเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ สินค้าทุน วัสดุเครื่องมืออุปกรณ์โรงงาน สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการ (Import) มีจำนวน 216.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น 9.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเดือนมีนาคม ในสินค้านำเข้าประเภทวัสดุเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงาน เครื่องจักรเครื่องยนต์ เชื้อเพลิงพลังงาน การบริการด้านการขนส่งโดยสาร และบริการด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น
ดุลการค้าระหว่างประเทศ เมื่อเทียบระหว่างเดือนเมษายน 2551 ที่ขาดดุลจำนวน 60.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ กับเดือนเมษายน 2550 ที่ขาดดุลอยู่ที่ 60.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเดือนเมษายนปี 2551 มีการขาดดุลมากกว่าปีก่อนหน้า จำนวน 0.6 พันล้านเหรียญ โดยในเดือนเมษายน 2550 มีมูลค่าการส่งออก จำนวน 130.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการนำเข้า จำนวน 190.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในปี 2551 ได้มีมูลค่ามากขึ้นทั้งการนำเข้า การส่งออก และการขาดดุล ดังแสดงได้ตามตารางนี้
ตางรางเปรียบเทียบดุลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ
มูลค่าการค้า (พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) มี.ค. 2551 เม.ย. 2551 เม.ย. 2550
มูลค่าการส่งออก (Export) 150.6 155.5 130.5
มูลค่าการนำเข้า (Import) 207.1 216.4 190.8
ดุลการค้าระหว่างประเทศ (EX - IM) -56.5 -60.9 -60.3
ที่มา: สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ, www.bea.gov
สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้าในด้านสินค้าและผลิตภัณฑ์ (ไม่รวมมูลค่าการบริการ) 3 อันดับแรกแก่ จีน สหภาพยุโรป และแคนาดา ตามลำดับ โดยมีการขาดดุลเพิ่มขึ้นให้กับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ดังนี้
ตางรางเปรียบเทียบดุลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ
มูลค่าการค้าเฉพาะสินค้าและผลิตภัณฑ์ (พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) จีน สหภาพยุโรป แคนาดา ประเทศอื่นๆ
มี.ค. 51 เม.ย. 51 มี.ค. 51 เม.ย. 51 มี.ค. 51 เม.ย. 51 มี.ค. 51 เม.ย. 51
มูลค่าการส่งออก (Export) 6.3 5.7 24.1 24.1 22.9 23.4 58.8 57.4
มูลค่าการนำเข้า (Import) 22.4 25.9 31.6 32.6 29.3 31.0 87.2 91.8
ดุลการค้าระหว่างประเทศ (EX - IM) -16.1 -20.2 -7.5 -8.5 -6.4 -7.6 -28.4 -34.4
ที่มา: สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ, www.bea.gov
ทั้งนี้ ได้แนบรายงานของสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (BEA) เพื่อไว้ใช้ประโยชน์ต่อไป
ภาพรวมสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประจำเดือนมิถุนายน 2551
ภาพรวมสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประจำเดือนมิถุนายน 2551
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (U.S. Department of Labor) ได้ประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนที่ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ร้อยละ 1.1 จากที่คาดการณ์ไว้เพียงร้อยละ 0.7 ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นที่สูงเป็นอันดับสองในรอบ 27 ปี รองจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ในเดือนกันยายน 2548 จากผลกระทบของเฮอริเคน คัทรีนา โดย ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาปรับตัวสูงกว่าเดือนมิถุนายนปีก่อนหน้าร้อยละ 5.5 ซึ่งนับว่าเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 17 ปี โดยเฉพาะสามเดือนหลัง ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.9 ทั้งนี้ สองในสามของดัชนีราคาผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ร้อยละ 6.6 โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภค ดังกล่าว ส่งผลให้รายได้รายสัปดาห์หลังหักอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนลดลงจากเดือนพฤษภาคม ร้อยละ 0.9 นับเป็นการปรับตัวลดลงที่มากที่สุดในรอบ 24 ปี
ราคาอาหารในเดือนมิถุนายนปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.6 หรือสองเท่าของอัตราการเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.3 ราคาพืชผักเพิ่มสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี ด้วยอัตราร้อยละ 6.1 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ที่ไม่รวมสินค้าหมวดอาหารและพลังงาน ได้แสดงถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ไปอยู่ที่ร้อยละ 2.4 เปรียบเทียบกับปริมาณการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ในเดือนพฤษภาคม
ทางด้านประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (นายเบน เบอร์นันเก้) ได้รายงานการคาดการณ์รายครึ่งปีต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่น การปรับตัวลดลงของมูลค่าเศรษฐทรัพย์ (wealth) การอ่อนตัวของตลาดแรงงาน ราคาน้ำมัน อาหาร และสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น รวมทั้งความตึงตัวในตลาดการเงินสหรัฐฯ โดยในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราต่ำกว่าช่วงก่อนหน้าผลผลิตภาคอุสาหกรรมโดยรวมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.1 ซึ่งนับว่าเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุด นับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2544 อย่างไรก็ตาม ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ร้อยละ 0.2 เปรียบเทียบกับการปรับตัวลดลงร้อยละ 0.1 ในเดือนพฤษภาคม และร้อยละ 0.9 ในเดือนเมษายน โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผลผลิตในภาคอุสาหกรรมรถยนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.4 ซึ่งเป็นผลจากการยุติการประท้วงของสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์นับเป็นการชดเชยกับการหดตัวของภาคอุสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะ ส่วนผลผลิตในภาคสาธารณูปโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ในขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ทั้งนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุสาหกรรมในเดือนมิถุนายนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน มาอยู่ที่ร้อยละ 79.9 เปรียบเทียบกับอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนพฤษภาคมที่ร้อยละ 79.6
นายเบอร์นันเก้ กล่าวต่อไปอีกว่า มีความเป็นไปได้ที่การใช้จ่ายของประชาชนสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงต่อไป และมีแนวโน้มว่าภาคเอกชนจะยังคงชะลอการลงทุนในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่เหลือของปี แม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยการจ่ายคืนเงินชดเชยภาษีให้กับประชาชนจะออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่อัตราการยึดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้กู้ไม่สามารถชำระคืนสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามเวลาที่กำหนด นับเป็นปัจจัยลบที่กดดันราคาบ้านให้ตกต่ำต่อไป อย่างไรก็ตาม นายเบอร์นันเก้ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของพรรคเดโมแครตที่จะนำมาตรการจ่ายคืนเงินชดเชยภาษีดังกล่าว มาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งในปีนี้ หลังจากที่ รัฐสภาสหรัฐฯ ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 191 พันล้านเหรียญสรอ. ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยงบประมาณส่วนหนึ่งได้ใช้จ่ายคืนเงินชดเชยภาษีแก่ประชาชนมูลค่ารวม 136 ล้านเหรียญสรอ.ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ที่ผ่านมา
ด้วย อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปีที่ร้อยละ 3.5 ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อจากสถานการณ์ราคาน้ำมันและพลังงานสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะยังคงมีให้เห็น โดย นายเบอร์นันเก้ กล่าวว่า การควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หรือประมาณร้อยละ 2 นั้น นับเป็นหน้าที่หลักของธนาคารกลางสหรัฐฯ
สภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ได้สร้างความกดดันให้กับธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการดำเนินมาตรการกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ ให้พ้นจากปัญหาราคาบ้านตกต่ำต่อเนื่อง อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และวิกฤติตลาดการเงิน ในขณะเดียวกัน ยังต้องรับมือกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น อีกด้วย ความผันผวนดังกล่าว ส่งผลให้แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยการปรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นยังไม่ชัดเจน อนึ่ง นายเบอนันเก้ ได้กล่าวถึงภาระกิจสำคัญอันดับแรกของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในทุกวันนี้ว่า คือการพลิกฟื้นภาวะตลาดเงินและตลาดทุนที่ตกต่ำอย่างหนักให้กลับคืนสภาพ เดิม ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal OpenMarket Committee: FOMC) จะมีการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางดอกเบี้ยระยะสั้น ในวันที่ 5 สิงหาคม 2551 นี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทางการไปอีก เพื่อบรรเทาภาวะเงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่ถีบตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ นายเบอร์นันเก้ ได้กล่าวย้ำถึงผลกระทบจากวิกฤติสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่มีความเชื่อถือต่ำ ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องว่าเป็นเรื่องที่รัฐสภาสหรัฐฯ ควรเร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน ในการรีไฟแนนซ์สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่กำลังประสบปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเร่งสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อสถานบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ตามที่สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน ได้นำเสนอรายงานในโอกาสแรก
________________________________________
ที่มา : สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน
รายงานตัวเลขเบื้องต้นภาวะดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550
รายงานตัวเลขเบื้องต้นภาวะดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550
รายงานตัวเลขเบื้องต้นภาวะดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550 จากการรายงานของสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (Bureau of Economic Analysis: BEA) ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ดังนี้
ภาวะดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 ยังคงมีการขาดดุลอย่างต่อเนื่อง แต่มีอัตราการขาดดุลที่ลดน้อยลง เมื่อเทียบกับการขาดดุลในไตรมาสที่ 3 โดยในไตรมาสที่สี่นี้ มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 172.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นดุลการค้าและบริการ ขาดดุลที่ระดับ 177.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ บัญชีรายได้เกินดุล 33 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ บัญชีเงินโอน 28.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯโดยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้ลดลงเหลือร้อยละ 4.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลดลงจากร้อยละ 5.1 ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งในไตรมาสที่สามของปี 2550 มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ที่ระดับ 177.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แยกเป็นดุลการค้าและบริการขาดดุลที่ 172.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ บัญชีรายได้เกินดุล 21.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และบัญชีเงินโอน 26.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่น้อยลงนี้ เป็นผลมาจากการที่มีบัญชีรายได้ และดุลบริการที่เกินดุลมากขึ้น ดังแสดงตามตารางข้างล่างนี้
หน่วย: พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลังประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
รมว.คลังสหรัฐเล็งลดดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน มุ่งฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- พฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 2008 14:40:12 น.
เฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐ กำลังพิจารณาใช้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน โดยมีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐให้ฟื้นตัวขึ้น
กระทรวงการคลังสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ใช้นโยบายเข้าซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยรองรับ (mortgage-Backed Securities หรือ MBS) ซึ่งออกโดยบริษัท แฟนนี เม และเฟรดดี แมค เตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านลงสู่ระดับ 4.5% ซึ่งแผนการดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่บารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้มาตรการช่วยเหลือกลุ่มเจ้าของบ้านในสหรัฐ และจะสานต่อเจตนารมณ์ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ริเริ่มใช้มาตาการซื้อตราสารหนี้ค้ำประกันเพื่อการซื้อบ้าน มูลค่า 6 แสนล้านดอลลาร์
ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ พร้อมทั้งปรับเพิ่มและลดดอกเบี้ยเงินฝากมีผลตั้งแต่ 20 กรกฎาคม 2550 เป็นต้นไป
Friday, 20 July 2007 04:22 -- การเงิน ลงทุน หุ้น
เพื่อเป็นการสนองนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ธนาคารไทยพาณิชย์จึงได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ พร้อมทั้งปรับเพิ่มและลดดอกเบี้ยเงินฝาก มีรายละเอียดดังนี้
ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ได้แก่ MLR MOR และ MRR ลงร้อยละ 0.125 โดยอัตราดอกเบี้ย MLR จาก ร้อยละ 7.00 เป็นร้อยละ 6.875 MOR จากร้อยละ 7.25 เป็นร้อยละ 7.125 และ MRR จากร้อยละ 7.5 เป็น ร้อยละ 7.375
ทั้งนี้ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากบุคคลธรรมดาทั้งปรับเพิ่มขึ้นและลดลง โดยอัตราเงินฝากประจำ 12 เดือน วงเงินน้อยกว่า 5 ล้านบาท จากร้อยละ 2.25 เป็น 2.375 และวงเงินมากกว่า 5 ล้านบาท จากร้อยละ 2.50 เป็น 2.375 ส่วนวงเงินอื่น ๆ ได้แก่ เงินฝากประจำ 3 เดือน วงเงินน้อยกว่า 5 ล้านบาท จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.00 และวงเงินมากกว่า 5 ล้านบาท จากร้อยละ 2.50 เป็น ร้อยละ 2.25 สำหรับเงินฝากประจำ 6 เดือน วงเงินน้อยกว่า 5 ล้านบาท จากร้อยละ 2.25 เป็น 2.00 และวงเงินมากกว่า 5 ล้านบาท จากร้อยละ 2.50 เป็นร้อยละ 2.25
ส่วนเงินฝากประจำ 24 เดือน และ 36 เดือน อัตราคงเดิมทุกวงเงิน ร้อยละ 2.50
ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม นี้ เป็นต้นไป
อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ตลาดโลกร่วงต่ำสุด หลังแบงค์ชาติลดดอกเบี้ย-อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- พุธที่ 5 พฤศจิกายน 2008 09:30:07 น.
อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ทั่วโลกร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ก่อนที่เลห์แมน บราเธอร์สจะล้มละลาย หลังจากธนาคารกลางหลายแห่งอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบและลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อคลี่คลายภาวะตึงตัวในตลาดการเงิน
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์สกุลเงินดอลลาร์ประเภท 3 เดือนที่ตลาดลอนดอน (LIBOR) ร่วงลง 0.15% แตะระดับ 2.71% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ที่ตลาดออสเตรเลียลดลงแตะระดับ 0.462% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.เป็นต้นมา
นักวิเคราะห์จากซิตี้กรุ๊ปกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ธนาคารกลางในหลายประเทศประกาศลดอัตราดอกเบี้ย โดยเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา เฟดประกาศลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 1.00% ขณะที่ธนาคารกลางจีนตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ลงอย่างละ 0.27% ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งที่สามในรอบสองเดือน และต่อมาธนาคารกลางฮ่องกง ธนาคารกลางไต้หวัน และธนาคารกลางเกาหลีใต้ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลงด้วย
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจมี) มติลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0.3% จากระดับปัจจุบันที่ 0.5% และล่าสุดเมื่อวานนี้ ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 5.25% ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางจะลดดอกเบี้ยลง 0.5% โดยมีเป้าหมายที่จะปกป้องเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินทั่วโลกได้
ส่วนอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ในตลาดเอเชียปรับตัวลดลงต่อเนื่องเมื่อวานนี้ โดยดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์สกุลเงินดอลลาร์ประเภท 3 เดือนในตลาดฮ่องกง (HIBOR) ร่วงลง 0.29% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ที่ 2.79% ในวันนี้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ตลาดสิงคโปร์ (SIBOR) ลดลง 0.13% แตะระดับ 2.80% ซึ่งเป็นระดับต่ำนับตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. ด้านอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ตลาดโตเกียว (TIBOR) ลดลงสู่ระดับ 0.791% ซึ่งเป็นสถิติการดิ่งลงหนักสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2542
วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4061
ผู้ฝากเงินช้ำปี"52ดอกเบี้ยลงอีก1% โบรกเกอร์คาดแบงก์ประคองตัวกินกำไรส่วนต่าง
วัดใจแบงก์หลัง ธปท.ลดดอกเบี้ยแรง 1% นักวิเคราะห์ชี้กดดันแนวโน้มผลประกอบการ ทั้งมาร์จิ้นลด เศรษฐกิจชะลอทำสินเชื่อและรายได้หด หนี้เสียพุ่ง-เพิ่มภาระสำรอง แต่ยังเชื่อลดดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่ากู้ ระยะยาวส่วนต่างดอกเบี้ยดีขึ้น คาดปีหน้า MLR ลดอีก 0.5-0.75% ขณะที่เงินฝากลด 0.4-1%
นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส กล่าวว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจลด ดอกเบี้ยนโยบาย 1% ในคราวเดียว เหลือ 2.75% ส่งสัญญาณให้เห็นว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะชะลอตัวอย่างมาก ซึ่งกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ต้องลดดอกเบี้ยตาม แต่คงไม่ใช่อัตราเดียวกันที่ 1% ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ไป 0.50% เนื่อง จากระยะนี้ต้นทุนเงินฝากของธนาคารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการที่ยังแข่งขันระดมเงินฝาก
อย่างไรก็ตาม บล.เอเซีย พลัสให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารที่ระดับต่ำกว่าตลาด เนื่องจากมีแรงกดดันเรื่องความสามารถในการขยายสินเชื่อ หนี้เสีย (NPL) ที่จะสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ภาระการกันสำรองสูงขึ้น มาร์จิ้นและ รายได้ดอกเบี้ยที่จะลดลงตามทิศทาง ดอกเบี้ยและการเติบโตลดลงของสินเชื่อ
"ตอนแรกเราคาดว่าจีดีพีปีหน้าจะโต 3-4% ซึ่งจะสนับสนุนให้สินเชื่อทั้งระบบ โต 6% และทำให้กำไรทั้งระบบปีหน้าอยู่ที่ 7.88 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะมีกำไร 8.4 หมื่นล้านบาท หรือติดลบ 6% แต่ตัวเลขนี้และประมาณการของแบงก์เองมีโอกาสลดลงได้อีกถ้าเศรษฐกิจย่ำแย่ลง เพราะตอนนี้ก็มีการพูดถึงว่าจีดีพีอาจติดลบ" นางสาวอุษณีย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีธนาคารหลายแห่งที่ทยอยเปิดเผยถึงเป้าหมายการขยายตัวของสินเชื่อปี 2552 เช่น ธนาคารกรุงเทพที่คาดว่าสินเชื่อจะโต 5% ธนาคารกรุงไทย 5-6% ธนาคารกสิกรไทยก็อยู่ระหว่างการปรับประมาณการที่เดิมคาดว่าจะเติบโต 10-16%
นายธนัท รังษีธนานนท์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ได้ให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารเท่าตลาด แต่ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าอาจปรับลดประมาณการลง ซึ่งจะต้องมาประเมินหลังลดดอกเบี้ยแล้วสินเชื่อดีขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่ดีขึ้นก็หมายถึงว่ารายได้ดอกเบี้ยของธนาคารมีแนวโน้มลดลงทั้งแง่ปริมาณและราคา ดังนั้นตัวชี้หลักจึงอยู่ที่การเติบโตของจีดีพีและสินเชื่อ ซึ่งปัจจุบันประมาณการรายได้ดอกเบี้ยของทั้งกลุ่มในปี 2552 ที่ 7% แต่ถ้าดอกเบี้ยลดลงแล้ว สินเชื่อยังไม่โต ก็มีโอกาสที่รายได้ดอกเบี้ยจะไม่โตเลย
ขณะที่ บล.เคจีไอระบุว่า ธนาคารขนาดใหญ่แห่งอื่นคงปรับลดดอกเบี้ยตามไทยพาณิชย์ โดยการลดดอกเบี้ยรอบนี้ต้นทุนเงินฝากจะไม่ลดลงทันทีเหมือนเงินกู้ ทำให้กดดันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในช่วงแรก แต่ในระยะยาวเชื่อจะเป็น ผลบวกต่อธนาคาร เนื่องจาก 70-90% ของสินเชื่อของระบบธนาคารเป็นชนิดลอยตัว ขณะที่ 50-60% ของเงินฝากเป็นประเภทฝากประจำ ซึ่งการลดดอกเบี้ยเงินฝาก 0.75-1% อย่างกรณีไทยพาณิชย์ กรุงเทพและกรุงไทย ซึ่งมากกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลด 0.5% อาจเหมือนกับอดีตในช่วงไตรมาส 1-4 ปี 2550 ที่ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยเหมือนรอบนี้ ปรากฏว่าสเปรดของทั้งกลุ่มเพิ่มขึ้น 0.53% ขณะที่ NIM เพิ่มขึ้น 0.32%
"มีโอกาสสูงที่ ธปท.จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.5-2% ในกลางปีหน้า จาก 2.75% ในปัจจุบัน จึงเป็นไปได้ที่ภายในปีหน้าดอกเบี้ยเงินกู้จะลดได้อีก 0.5-0.75% ทำให้ MLR ลดลงเหลือ 6-6.5% ขณะที่ ดอกเบี้ยเงินฝากประจำอาจลดได้ 0.4-1% เหลือ 1-1.5% ซึ่งในรอบต่อไปเราคงได้เห็นธนาคารลดดอกเบี้ยเงินฝากไปก่อนลด ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อหลีกเลี่ยงผลลบต่อ ส่วนต่างดอกเบี้ย" บล.เคจีไอระบุ
รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อจัดทำเป็นรายไตรมาส โดยเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการเงิน เพื่อวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ (1) เสนอกรอบประมาณการภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ชัดเจนและมองไปข้างหน้า เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการฯ และ (2) ถ่ายทอดแนวความคิดของคณะกรรมการฯ ต่อสาธารณชน และอธิบายเหตุผลของการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายต่างๆ
สรุปผลการประมาณการ ณ ตุลาคม 2551
ร้อยละ 2550 2551 2552
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
(เดิม) 4.8 4.3 – 5.0
(4.8 – 5.8) 3.8 – 5.0
(4.3 – 5.8)
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน
(เดิม) 1.1 2.0 – 2.5
(2.8 – 3.8) 2.0 – 3.0
(3.0 – 4.0)
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป
(เดิม) 2.3 6.0 – 6.5
(7.5 – 8.8) 3.0 – 4.0
(5.0 – 7.5)
รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อเป็นส่วนหนึ่งของการริเริ่มปฏิรูประบบบริหารเศรษฐกิจในยุคใหม่ ที่จะเน้นความโปร่งใสของการดำเนินงาน และความรับผิดชอบของผู้ดำเนินนโยบาย โดยให้ความสำคัญกับการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชน โดยที่คณะกรรมการฯ จะใช้รายงานฉบับนี้เผยแพร่ข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจทิศทางนโยบายการเงินของ
คณะกรรมการ ฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มของระดับราคา ภาวะเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ ข้อสมมติต่างๆ ที่ใช้ รวมทั้งประเด็นต่างๆ ที่คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญ โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการฯ
วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น