บทเรียนการเมืองจากคดียุบพรรค (ตอนที่ 1)
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยคดีที่ 1 ระหว่างอัยการสูงสุดกับพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย และในคดีที่ 2 ระหว่างอัยการสูงสุดกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย กับให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน พรรคพัฒนาชาติไทย 19 คน และพรรคแผ่นดินไทย 3 คน มีกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง และให้ยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พร้อมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค 9 คน และให้ยกคำร้องในส่วนของการให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์นั้น
การตัดสินคดีประวัติศาสตร์นี้มีเรื่องน่าศึกษา จึงขอนำย้อนกลับไปยังมูลเหตุให้เกิดคำร้องโดยอัยการสูงสุดในทั้งสองคดี และการสรุปคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีความเห็นว่าน่าจะนำไปทำเป็นบทเรียนสอนเยาวชนให้รู้เรื่องการเมือง
24 ก.พ. 49 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา และในเวลาต่อมา กกต. ก็ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เม.ย. 49
27 ก.พ. 49 สามพรรคใหญ่ คือประชาธิปัตย์ ชาติไทย และมหาชน ไม่ส่งผู้สมัคร และรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน
27 ก.พ. 49 พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคมาประชุมที่อาคารวุฒิสภา มีหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดเล็ก 15 พรรคมาร่วมประชุม
12 มี.ค. 49 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นำนางรัชนู ต่างสี นายสุวิทย์ อบอุ่น นางนิภา จันทรโพธิ์ ที่ถูกนายทัศนัย กี้สุน พาไปสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในนามพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า มาแถลงข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ว่า ถูกนายทัศนัยหลอกพาไปสมัครทั้งที่ไม่มีคุณสมบัติ
16 มี.ค. 49 นายสุเทพ แถลงข่าวว่า มีขบวนการจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยระบุว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ได้ให้คนสนิทและ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต พล.ท.ผดุงศักดิ์ กลั่นเสนาะ และผู้อื่น ประสานไปยังนายชวการ โตสวัสดิ์ นายสุขสันต์ ชัยเทศ และนายพงษ์ศรี ศิวาโมกข์ เพื่อให้ติดต่อไปยังผู้บริหารพรรคเล็ก คือพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า แผ่นดินไทย พัฒนาชาติไทย ให้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในเขตต่าง ๆ โดยมีการจ่ายเงินให้หัวละ 1 แสน – 3 ล้านบาท
19 มี.ค. 49 นายสุเทพ พา 3 พยาน คือ นายชวการ นายสุขสันต์ น.ส.มณทิรา พิมพ์จันทร์ มาแถลงข่าว โดยทั้งสามยืนยันว่าได้รับการติดต่อจากผู้บริหารพรรคไทยรักไทยจริง และในช่วงวันที่ 2-9 มี.ค. ได้ทำการปลอมแปลงเอกสารการลงสมัครที่โรงแรมย่านสะพานควาย
นายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย แจ้งความให้ดำเนินคดีกับนายสุเทพกับพวกฐานะหมิ่นประมาท ข้อหารับเงินจาก พล.อ.ธรรมรักษ์ และระบุว่า นายสุเทพ ได้เดินทางไปหาที่บ้านเมื่อวันที่ 15 มี.ค. เพื่อให้ใส่ความพรรคไทยรักไทย โดยแลกกับเงิน 15 ล้านบาท
20 มี.ค. 49 นายวีระ มุสิกพงศ์ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย แฉพรรคประชาธิปัตย์จัดฉากจัดหาผู้สมัครที่ตรัง แล้วป้ายความผิดให้พรรคไทยรักไทย เพราะนายทัศนัย กี่สุ้น เป็นผู้ช่วยนายสาธิต วงศ์หนองเตย กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์
21 มี.ค. 49 นายสุเทพ พร้อมคณะเข้าให้ข้อมูลและร้องเรียนต่อ กกต. ว่าเจ้าหน้าที่ กกต. ให้ความร่วมมือในการแก้ไขฐานข้อมูลการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อให้ผู้สมัครมีคุณสมบัติถูกต้อง กกต. ได้ตั้งนายนาม ยิ้มแย้ม รองประธานศาลฎีกา เป็นประธานคณะอนุกรรมการสอบสวน
21-22 มี.ค. 49 นพ.พรหมินทร์ และนายพงษ์ศักดิ์ ยื่นฟ้องนายสุเทพ ฐานหมิ่นประมาทกล่าวหาว่ามีส่วนในการจ้างวานพรรคเล็ก
22 มี.ค. 49 นายสุเทพ พานางฐัติมา ภาวะลี ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคแผ่นดินไทย นายชวการ นายสุขสันต์ ไปพักที่บ้าน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี โดยอ้างว่าเกรงจะไม่ปลอดภัย
24 และ 25 มี.ค. 49 พ.ต.อ.ศุภชัย ฟื้นพานิช ผกก. 5 กองปราบปรามนำกำลังไปรับตัวนางฐัติมา จากบ้านนายสุเทพ ที่ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี และนางฐัติมา ได้แจ้งความดำเนินคดีกับนายสุเทพ ฐานกักขัง หน่วงเหนี่ยว และจ้างให้ใส่ร้ายพรรคไทยรักไทย โดยแลกกับเงิน 1 ล้านบาท และได้รับเงินเบื้องต้นจากนายสุเทพ แล้ว 3 แสนบาท
2 เม.ย. 49 วันเลือกตั้งทั่วไป ปรากฏว่ามี 39 เขตที่ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยที่ลงคนเดียว ได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขต จึงต้องทำการเลือกตั้งใหม่
8-9 เม.ย. 49 วันรับสมัครใหม่ นายชาลี นพวงศ์ แกนนำกลุ่มคนรักษ์สงขลา พร้อมชาวสงขลาชุมนุมในบริเวณอาคารกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ซึ่งเป็นศูนย์อำนวยการรับสมัคร ส.ส.ประจำจังหวัดสงขลา ทำให้ผู้สมัครพรรคเล็กร้องว่ามีการขัดขวางการสมัคร
12 เม.ย 49 กกต. มีมติสั่งดำเนินคดีอาญานายทัศนัย กี่สุ้น และผู้สมัครพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า จ.ตรัง ที่ไม่มีสิทธิสมัคร แต่ลงสมัคร และเสนออัยการสูงสุดให้ยุบพรรค พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า
21 เม.ย. 49 กกต. มีมติเสนอให้ยุบพรรคพัฒนาชาติไทย
8 พ.ค. 49 คณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดนายนาม ยิ้มแย้ม สรุปผล ระบุผู้บริหารพรรคไทยรักไทยเกี่ยวข้องการจ้างวานพรรคเล็กลงสมัคร และเสนอให้ กกต. แจ้งข้อกล่าวหาต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ หัวหน้าพรรคไทยรักไทย
9 พ.ค. 49 นายวรรธวริทธิ์ ตันติภิรมย์ หัวหน้าพรรคชีวิตที่ดีกว่า เข้าร้องเรียน กกต. ว่านายไทกร พลสุวรรณ แกนนำอีสานกู้ชาติไปติดต่อให้ใส่ร้ายพรรคไทยรักไทยว่าจ้างลงสมัคร โดยมีหลักฐานเป็นซีดีการพูดคุยของตนกับนายไทกร
22 พ.ค. 49 นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล และทีมกฎหมายพรรคไทยรักไทย เข้ายื่นหนังสือร้องต่อ กกต. ให้สอบพรรคประชาธิปัตย์กระทำผิด กกต. ตั้งอนุกรรมการที่มีนายสุริยา ทรงวิทย์ รองอัยการจังหวัดเป็นประธานสอบสวน
29 พ.ค. 49 นายสุเทพ นำภาพวงจรปิดที่กระทรวงกลาโหม ระบุว่าเป็นวันที่นายชวการ และนายสุขสันต์ ไปรับเงินจาก พล.อ.ธรรมรักษ์
19 มิ.ย. 49 กกต. ส่งคำร้องพร้อมหลักฐานให้อัยการสูงสุดพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย เนื่องจากกระทำผิดมาตรา 66 (2) และ (3) ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ในข้อหาว่าพรรคไทยรักไทยจ้างวานพรรคการเมืองเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อหนีเกณฑ์ต้องได้คะแนนร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น และพรรคพัฒนาชาติไทยทำการเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลสมาชิกพรรคที่ กกต. เพื่อให้ผู้สมัครมีคุณสมบัติมีสิทธิลงรับเลือกตั้งได้
26 มิ.ย. 49 กกต. ส่งคำร้องพร้อมหลักฐานไปยังอัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยชี้มูลว่ากระทำผิดมาตรา 66 (2) และ (3) ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง รวม 6 ข้อกล่าวหา คือ 1. ร่วมมือกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยล้มล้างรัฐบาล 2. ขอนายกฯ พระราชทานตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 3. บอยคอตไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง 4. รณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน 5. ขัดขวางการลงสมัครที่ จ.สงขลา 6. จ้างพรรคการเมืองเล็ก คือพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคชีวิตที่ดีกว่า พรรคพัฒนาชาติไทย ให้ลงสมัครแล้วใส่ร้ายพรรคไทยรักไทยว่าเป็นผู้จ้างวาน
6 ก.ค. 49 อัยการสูงสุดเสนอคำร้องยุบ 5 พรรคการเมืองคือ ไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ ประชาธิปไตยก้าวหน้า แผ่นดินไทย ชีวิตที่ดีกว่า ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค
19 ก.ย. 49 เกิดปฏิวัติรัฐประหาร มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และศาลรัฐธรรมนูญ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สั่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และตัวแทนจากทั้งสองศาลรวม 9 นาย ทำหน้าที่พิจารณา
30 พ.ย. 49 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการไต่สวนคดียุบพรรคโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคดี โดยพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย อยู่ในกลุ่มคดีที่ 1 และพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า อยู่ในกลุ่มคดีที่ 2
16 และ 18 ม.ค. 50 ศาลนัดไต่สวนนัดแรกของคดีที่ 1 และ 2 ตามลำดับ
30 พ.ค. 50 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย
(อ่านต่อตอนที่ 2)
บทเรียนการเมืองจากคดียุบพรรค (ตอนที่ 2)
การตัดสินคดีประวัติศาสตร์นี้มีเรื่องน่าศึกษาจึงขอนำย้อนกลับไปยังมูลเหตุให้เกิดคำร้องโดยอัยการสูงสุดในทั้งสองคดี และการสรุปคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีความเห็นว่าน่าจะนำไปทำเป็นบทเรียนสอนเยาวชนให้รู้เรื่องการเมือง
คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ1
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำวินิจฉัยคดียุบพรรคในกลุ่มที่ 1 ระหว่างอัยการสูงสุด ผู้ร้อง กับพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ผู้ถูกร้องที่ 1, 2 และ 3 ตามลำดับ และมีคำวินิจฉัยในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย สรุปได้ว่า
1. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 มาตรา 35
2. นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจแจ้งอัยการสูงสุดเพื่อให้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองได้
3. การสืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ ข้อ 40
4. เหตุแห่งการยุบพรรคเกิดขึ้นก่อนการยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ดังนั้นคำชี้แจงของสำนักงานเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองจึงเป็นเพียงความเห็น ไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายและไม่มีผลทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับสิ้นผลใช้บังคับ
5. พรรคไทยรักไทยไม่มีสิทธิที่จะโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ทั้งนี้เพราะมาตรา 262 ให้สิทธิเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
6. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งการแล้ว ย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 63 วรรคสาม ได้ทันทีไม่ต้องมีคำสั่งให้พรรคการเมืองเลิกกระทำการตามวรรคสองก่อน
7. การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งถูกยกเลิกไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองดังกล่าวหามีผลเป็นการยกเลิกความผิดที่ได้กระทำไปแล้วเพราะเป็นคนละส่วนกัน
8. ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยรับจ้างพรรคไทยรักไทยจัดหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทยร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. แก้ไขข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย เพื่อให้ครบ 90 วัน โดยมีพรรคไทยรักไทยเป็นผู้สนับสนุน และพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย ออกหนังสือรับรองสมาชิกพรรคของตนอันเป็นเท็จเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้ง
9. พลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นกรรมการบริหารพรรคคนสำคัญของพรรคไทยรักไทย และได้รับความไว้วางใจอย่างยิ่งจากคณะกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรค ดำเนินการเพื่อให้พรรคไทยรักไทยสามารถกลับคืนสู่อำนาจได้โดยเร็ว เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่พรรคไทยรักไทย พรรคไทยรักไทยไม่เคยมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกล่าวหา ทั้งก่อนและหลังวันเลือกตั้ง ทั้งที่ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของพรรคไทยรักไทย ถือได้ว่าการกระทำของพลเอกธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ เป็นการกระทำและมีผลผูกพันกับพรรคไทยรักไทย
นายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย ได้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยและการรับเงินจากพลเอกธรรมรักษ์ เป็นผู้แทนของพรรคพัฒนาชาติไทย ถือได้ว่าการกระทำของนายบุญทวีศักดิ์ เป็นการกระทำและมีผลผูกพันพรรคพัฒนาชาติไทย
นายบุญาบารมีภณ ชิณราช หัวหน้าพรรคแผ่นดินไทยรู้เห็นยินยอมให้นางฐัติมา ภาวะลี รับเงินจากพลเอกธรรมรักษ์ ทั้งยังออกหนังสือรับรองการเป็นสมาชิกพรรคอันเป็นเท็จ ถือได้ว่าการกระทำของนายบุญาบารมีภณ เป็นการกระทำและมีผลผูกพันพรรคแผ่นดินไทย
10. การกระทำของพรรคไทยรักไทย เข้าหลักเกณฑ์ถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66(1) เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือเป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 66(3)
การกระทำของพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย เข้าหลักเกณฑ์ที่ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66(2) ทั้งยังเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 66(3)
11. การกระทำของพรรคไทยรักไทยเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ผดุงไว้ซึ่งหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง และไม่อาจดำรงความเป็นพรรคการเมืองที่จะสร้างสรรค์และจรรโลงความชอบธรรมทางการเมืองแก่ระบอบประชาธิปไตยโดยรวมได้อีกต่อไป จึงมีเหตุอันสมควรยุบพรรคไทยรักไทย
ส่วนพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยเป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของผู้ก่อตั้งหรือคณะกรรมการบริหารพรรค มิได้มีสภาพความเป็นพรรคการเมืองอยู่เลย จึงมีเหตุอันสมควรยุบพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย
12. ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ใช้บังคับกับเหตุยุบพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66(1) (2) และ (3) เพราะความในมาตรา 66(1) (2) และ (3) มีความหมายชัดเจนว่าเป็นบทบัญญัติที่ห้ามการกระทำอยู่ในตัว เมื่อพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวก็อาจถูกยุบพรรคการเมืองได้ จึงมีผลเท่ากับเป็นข้อต้องห้ามมิให้พรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวนั่นเอง
13. ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ที่ให้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมิใช่โทษทางอาญา เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่เกิดจากผลของกฎหมายที่ให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่กระทำการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 เพื่อมิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสที่จะกระทำการอันเป็นการก่อความเสียหายซ้ำอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และแม้สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในสังคมที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่การมีกฎหมายกำหนดว่าบุคคลใดสมควรมีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้เหมาะแก่สภาพแห่งสังคม หรือเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในสังคมนั้นดำรงอยู่ ย่อมมีได้ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ข้อ 3 จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังแก่การกระทำอันเป็นเหตุยุบพรรคในคดีนี้ได้
14. การที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะเกิดเหตุ ลาออกจากตำแหน่งก่อนวันมีคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ลบล้างผลของการกระทำที่พรรคการเมืองได้กระทำในขณะที่กรรมการบริหารพรรคผู้นั้นดำรงตำแหน่งอยู่ มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดผลที่ไม่ควรจะเป็น และการบังคับเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายย่อมตกเป็นอันไร้ผล คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวได้
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย กับให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน พรรคพัฒนาชาติไทย 19 คน และพรรคแผ่นดินไทย 3 คน มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง
บทเรียนการเมืองจากคดียุบพรรค (ตอนจบ)
สำหรับคำวินิจฉัยในคดีกลุ่มที่ 2 ซึ่งมีผู้ถูกร้องคือพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า มีดังนี้คือ
1. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 ยังมีผลใช้บังคับอยู่
2. นายทะเบียนพรรคการเมืองสามารถส่งเรื่องร้องเรียนคดีนี้ให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
3. ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานแล้วส่งให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญใหม่
4. การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ทำให้ข้อกล่าวหาที่มีต่อพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าต้องตกไป
5. การที่หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ จัดให้มีปราศรัยเกี่ยวกับการบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และบุคคลร่วมรัฐบาลบางคนนั้น เป็นวิสัยของประชาชนทั่วไปย่อมกระทำได้ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เป้นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ส่วนการปราศรัยหรือชักชวนให้ลงคะแนนในช่อง “ไม่ประสงค์จะลงคะแนน” เป็นสิทธิ์ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 326 (4) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 56 จึงไม่เป็นการใส่ร้ายด้วยความเท็จหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณ หัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรคไทยรักไทยผู้สมัครรับเลือกตั้ง
6. ฟังได้ว่านายทัศนัย กี่สุ้น พาผู้สมัครคือ นางสาวนิภา จันโพธิ์ นางรัชนู ต่างสี และนายสุวิทย์ อบอุ่น ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และสมัครรับเลือกตั้ง โดยรู้ว่าผู้สมัครทั้งสามเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าไม่ครบ 90 วันจริง แต่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย และพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือสนับสนุนการกระทำของนายทัศนัย และฟังไม่ได้ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ จัดแถลงข่าวใส่ร้ายพรรคไทยรักไทยว่าเป็นผู้ว่าจ้างผู้สมัครทั้งสาม
7. ฟังไม่ได้ว่านายไทกร พลสุวรรณ ว่าจ้างนายวรรธวริทธิ์ ตันติภิรมย์ หัวหน้าพรรคชีวิตที่ดีกว่าให้ใส่ร้ายนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย แต่เป็นเรื่องที่นายไทกร แสวงหาพยานหลักฐานจากนายวรรธวริทธิ์ เนื่องจากนายไทกร เชื่อว่าพรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง
8. ฟังได้ความว่า มีการขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราฎรของนางสาวปัทมา ชายเกตุ กับพวกที่สงขลาจริง แต่กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีส่วนร่วมในการขัดขวางดังกล่าว
9. ฟังได้ว่า นางสาวอิสรา หรือพรณารินทร์ ยวงประเสริฐ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าออกหนังสือรับรองอันเป็นเท็จให้แก่นางสาวนิภา จันโพธิ์ นางรัชนู ต่างสี และนายสุวิทย์ อบอุ่น ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคติดต่อกันไม่ครบ 90 วัน นำไปเป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้ง โดยรู้อยู่ว่าบุคคลทั้งสามเป็นสมาชิกพรรคยังไม่ครบ 90 วันจริง
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหา จึงให้ยกคำร้อง ส่วนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ากระทำการตามที่ถูกกล่าวหา โดยเป็นการกระทำที่ขาดจิตสำนึกที่ดีต่อประชาชนโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประเทศชาติ จึงให้ยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคมีกำหนดห้าปี ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรค
จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า กับให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค จำนวน 9 คน เป็นกำหนดห้าปีนับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง และให้ยกคำร้องในส่วนที่ขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์
บทเรียนการเมือง
หลังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยและตัดสินคดีประวัติศาสตร์แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายวิจิตร ศรีสะอ้าน ได้แสดงความเห็นว่าสมควรที่กระทรวงศึกษาฯ จะนำเรื่องนี้ไปสู่การเรียนการสอนทุกระดับชั้น โดยมีการผลิตสื่อเสริมเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น จากนั้นจึงอบรมครูก่อนนำบทเรียนไปสอนในชั้นเรียนต่อไป
วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น