วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551

3.ครุกแมน เตือนเศรษฐกิจเอเซีย

ครุกแมนเตือน “เศรษฐกิจฟองสบู่สหรัฐฯ กระทบชาติเอเชีย – หนี้ครัวเรือน และหนี้บัตรเครดิตไทย น่าห่วงกว่าหนี้สาธารณะ”
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 พฤษภาคม 2548 07:59 น.
ผู้จัดการออนไลน์ - พอล ครุกแมน ระบุเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจเอเชีย เพราะจะส่งผลให้ค่าเงินลด ทำให้ชาติเอเชียที่สะสมทรัพย์สินเป็นดอลลาร์ สูญเสียความความมั่งคั่ง พร้อมกับเตือนว่า เตือนหนี้ครัวเรือนและบัตรเครดิตไทยน่าห่วงกว่าหนี้สาธารณะ
นายพอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง กล่าวในงานกาลาดินเนอร์ “Warning System; Positioning of Thailand & South East Asia” ซึ่งจัดขึ้นโดยบริษัทไทยเดย์ ดอท คอม และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล ช่วงค่ำของวันอังคาร (17) ว่า ความไม่สมดุลของบัญชีเดินสะพัดกำลังเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง ซึ่งจะส่งผลไปทั่วโลก
ครุกแมนกล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมว่า ขณะนี้อยู่ในภาวะที่ไม่ยั่งยืนอยู่หลายจุด ที่เห็นได้ชัดคือการที่สหรัฐฯ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ขณะที่ประเทศจีนซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่กลับมีบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นทิศทางการไหลของเงินทุนที่ไม่ปกติ และสภาวะนี้ไม่น่าจะดำเนินต่อไปได้เกิน 5 ปี หากปัญหาอันสืบเนื่องมาจากความไม่สมดุลของเงินทุนเกิดขึ้น ประกอบกับภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ แตก ย่อมส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่าประเทศต่างๆ รวมถึงเอเชียย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบด้วย
นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังขยายความว่า เนื่องจากชาติเอเชียล้วนแต่สะสมความมั่งคั่งในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นการถือครองที่ไม่คุ้มค่านัก เพราะหากฟองสบู่แตกความมั่งคั่งที่สะสมไว้ย่อมเสียหาย
อย่างไรก็ตาม ครุกแมนไม่เชื่อว่าบรรดาธนาคารกลางเอเชีย จะใช้วิธีลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อปรับสมดุลระหว่างเศรษฐกิจสหรัฐฯ กับเอเชีย เพราะการถือเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เปรียบเหมือนเป็นการปล่อยกู้ให้กับคนอเมริกัน ซึ่งจะนำเงินกลับมาซื้อสินค้าของเอเชีย ทำให้เกิดการค้าขายกับสหรัฐฯ ต่อไป
ครุกแมนกล่าวถึงหนี้สาธารณะของไทยที่เพิ่มพูนขึ้น เนื่องจากเป็นมาตรการหลักที่รัฐบาลไทยใช้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยว่า หนี้สาธารณะไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ตราบใดที่เศรษฐกิจยังมีอัตราการเติบโตดี และมีการควบคุมการสร้างหนี้ที่เหมาะสม มีการศึกษาให้ดีก่อนลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ คงเป็นหนี้ภาคครัวเรือนและหนี้บัตรเครดิตมากกว่า
ครุกแมนได้แสดงความเห็นสนับสนุนแนวคิดเรื่องธนาคารกลางเอเชีย โดยเห็นว่าถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วที่เอเชียจะมีแหล่งเงินทุนของตัวเอง ลักษณะเดียวกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แต่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่มีการเสนอให้เอเชียใช้เงินสกุลเดียวแบบเดียวกับที่สหภาพยุโรปใช้เงินยูโรร่วมกัน เนื่องจากในภูมิภาคนี้ยังมีความแตกต่างทางเศรษฐกิจอยู่มาก ยกตัวอย่างอินโดนีเซียกับญี่ปุ่น ซึ่งช่องว่างดังกล่าวอาจทำให้เกิดปัญหาใหญ่ในหลายด้าน และแม้แนวคิดนี้จะมีความเป็นไปได้ แต่ก็คงต้องใช้เวลานานกว่าชาติเอเชียทั้งหมดจะพร้อม
เตือนรอบคอบเรื่องเอฟทีเอ
ในเรื่องของการค้าเสรีซึ่งประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทยกำลังเร่งทำการตกลงกับประเทศอุตสาหกรรมใหญ่เช่นสหรัฐฯ ในการเปิดเขตการค้าเสรีนั้น ครุกแมนเตือนว่า ควรดำเนินการอย่างระมัดระวัง พร้อมยกตัวอย่างว่ามีน้อยประเทศที่ได้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ
สำหรับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียโดยรวมนั้น ครุกแมนเชื่อว่าศูนย์กลางของเศรษฐกิจน่าจะไปรวมอยู่ที่ประเทศจีน ซึ่งมีข้อได้เปรียบทางอุตสาหกรรมในหลายๆ ด้าน หรืออาจเรียกว่าแทบทุกด้าน และเศรษฐกิจโลกสามารถก้าวพ้นปัญหาความไม่สมดุลของบัญชีเดินสะพัดในปัจจุบัน ที่สหรัฐฯ ขาดดุลขณะที่จีนเกินดุลไปได้ ชาติเอเชียคงต้องจับตาดูว่าจีนจะดึงเอาเงินทุนต่างชาติจากประเทศอื่นไปจนหมดหรือไม่
ในกรณีนี้ หลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งแม้จะมีรายได้ต่อหัวมากกว่าจีน แต่มีข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจน้อยกว่า จะสามารถหาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านใดมาเป็นจุดแข็งได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ครุกแมนเชื่อว่าภาวะดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะอย่างไรเสียจีนย่อมต้องเผชิญกับมาตรการป้องกันทางการค้าจากประเทศอื่นๆ และสุดท้ายแล้วต้นทุนแรงงานของจีนคงไม่ต่ำอย่างในปัจจุบันได้ตลอด
ทั้งนี้ เป็นที่แน่ชัดว่าอีกไม่นานจีนจะสามารถเทียบชั้นกับสหรัฐฯ ในเชิงเศรษฐกิจได้ เพราะในปัจจุบันหลายๆ ประเทศก็เริ่มให้ความสำคัญกับตลาดจีนเกือบเท่ากับที่เคยให้ความสำคัญกับตลาดสหรัฐฯ
ส่วนเรื่องค่าเงินหยวน ครุกแมนเห็นว่าน่าจะปรับค่าเงินขึ้น แต่ไม่ควรปล่อยลอยตัว พร้อมย้ำว่า การปรับค่าเงินน่าจะเป็นประโยชน์กับเอเชียโดยรวม
อนึ่ง ครุกแมนสรุปทิ้งท้ายว่า เส้นทางเศรษฐกิจเอเชียที่จะดำเนินต่อไปในอีก 5-10 ปีข้างหน้าอาจจะต้องมีหลุมบ่อ ขรุขระบ้าง โดยเฉพาะหากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประสบปัญหา อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่น่าจะรุนแรงเท่ากับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งก่อน เพียงแต่ต้องตระหนักไว้ด้วยว่า หากประเทศเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และยังมีระบบการบริหารจัดการที่มีปัญหาอีก ก็จะยิ่งทำให้ปัญหารุนแรงขึ้นไปอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น