วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551

7.ความสัมพันธ์กับต่างประเทศในมิติต่างๆ

เอกสารสรุปสาระสำคัญมติคณะรัฐมนตรีตามนโยบายรัฐบาล ___
๕.๒ การส่งเสริมความสัมพันธ์ในมิติต่าง ๆ กับนานาประเทศ
มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๙
เรื่อง รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย - สเปน (๗ - ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอผลการเจรจาการบินระหว่างคณะผู้แทนรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและคณะผู้แทนรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรสเปน ระหว่างวันที่ ๗ - ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน เพื่อหารือกันในเรื่องเกี่ยวกับบริการเดินอากาศระหว่างประเทศ โดยคณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันในเรื่องการปรับปรุงความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ การกำหนดสายการบิน ใบพิกัดเส้นทางบิน ความจุความถี่ และสิทธิรับขนการจราจร
มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๙
เรื่อง การเปิดเสรีรับขนการจราจรเสรีภาพที่ ๓/๔ ในเที่ยวบินขนส่งเฉพาะสินค้าระหว่าง ไทย - ฮ่องกง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการเปิดเสรีรับขนการจราจรเสรีภาพที่ ๓/๔ ในเที่ยวบินขนส่งเฉพาะสินค้าระหว่าง ไทย - ฮ่องกง โดยปรับปรุงสิทธิความถี่ของการดำเนินบริการเที่ยวบินรับขนเฉพาะสินค้าจากเดิมที่ข้อ ๓ ของบันทึกความเข้าใจลับ ฯ ฉบับลงนามวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๗ แก้ไขเป็นให้สายการบินที่กำหนดสายหนึ่ง หรือหลายสายของภาคีแต่ละฝ่าย มีสิทธิดำเนินบริการรับขนการจราจรเสรีภาพที่ ๓/๔ ระหว่างจุดต่าง ๆ ในประเทศไทย และฮ่องกงเอสเออาร์ โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ในเรื่องความถี่และแบบอากาศยานทั้งเที่ยวบินรับขนผู้โดยสารผสมสินค้า และเที่ยวบินรับขนเฉพาะสินค้า
มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๙
เรื่อง รายงานผลการประชุม The ๓rd Pan-Pearl River Delta Regional Cooperation and Development ณ นครคุนหมิง (วันที่ ๕ - ๗ มิถุนายน ๒๕๔๙)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอผลการประชุม The ๓rd Pan-Pearl River Delta Regional Cooperation and Development ระหว่างวันที่ ๕-๗ มิถุนายน ๒๕๔๙ ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เข้าร่วมการประชุมหารือเรื่องการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียนกับ PPRD ครั้งที่ ๑ ที่ประเทศไทย การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และสภาธุรกิจไทย-มณฑล PPRD รวมทั้งการกำหนดยุทธศาสตร์และการดำเนินมาตรการความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และมณฑลที่เป็นสมาชิก PPRD และการกำหนดกลยุทธ์มาตรการ และผลักดันความร่วมมือการใช้เส้นทางคมนาคมระหว่างไทยสู่จีนเพื่อสนับสนุนการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และท่องเที่ยว และมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินยุทธศาสตร์ของไทยต่อจีนบรรลุตามที่กำหนดอย่างเป็นรูปธรรม
มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๙
เรื่อง รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย - เวียดนาม (วันที่ ๒๗ - ๒๘ เมษายน ๒๕๔๙)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอรายงานผลการเจรจาการบินระหว่างคณะผู้แทนรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและคณะผู้แทนรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ ๒๗-๒๘ เมษายน ๒๕๔๙ ที่กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อหารือกันในเรื่องเกี่ยวกับบริการเดินอากาศระหว่างประเทศ โดยคณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันในเรื่องใบพิกัดเส้นทางบิน และสิทธิความจุและความถี่
มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๙
เรื่อง การดำเนินงานโครงการ Contract Farming และแผนลงทุนปี ๒๕๔๙ - ๒๕๕๐
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอการดำเนินงานและแผนการลงทุน Contract Farming ปี พ.ศ. ๒๕๔๙-๒๕๕๐ โดยให้ สศช. พิจารณาทบทวนพืชเป้าหมายของโครงการ ฯ และแผนการลงทุน ฯ ใหม่ให้เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการผลิตผลทางการเกษตร ที่จะใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมในประเทศ และผลกระทบกับเกษตรกรในประเทศ แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาด้วย อาทิ ความเห็นของกระทรวงการคลังที่เห็นว่า เนื่องจากช่วงเวลาที่กำหนดให้มีการนำเข้าผลผลิตซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๔๙ ถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๕๐ หากเรื่องดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว ขอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เร่งดำเนินการในขั้นตอนของการตรวจสอบความถูกต้องทางกฎหมายของร่างประกาศที่กรมศุลกากรเสนอมาเพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถดำเนินการออกประกาศได้ทันช่วงเวลาการนำเข้าผลผลิต เพื่อมิให้เกิดปัญหาการออกประกาศล่าช้าอันจะส่งผลให้การนำเข้าผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๙
เรื่อง ขออนุมัติเงินช่วยเหลือโครงการพัฒนาถนนสาย ๖๗ (ช่องสะงำ - อันลองเวง - เสียมราฐ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอการให้ความช่วยเหลือเป็นเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนแก่ประเทศกัมพูชา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการพัฒนาถนนสาย ๖๗ (ช่องสะงำ-อันลองเวง-เสียมราฐ) ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๖ (เรื่อง ความช่วยเหลือของรัฐบาลไทยในการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงไทย-กัมพูชา) วงเงิน ๑,๓๐๐ ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งเงินกู้ วิธีการกู้ ตลอดจนเงื่อนไขอื่น ๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) ให้ได้ข้อยุติ แล้วดำเนินการต่อไปได้ สำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายกรณีฝ่ายไทยต้องให้การสนับสนุนในส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวให้กระทรวงการคลังพิจารณาร่วมกับสำนักงบประมาณและ สพพ. และให้ดำเนินการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป
มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๙
เรื่อง รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย - สาธารณรัฐเกาหลี (วันที่ ๒๒ - ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๙)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอผลการเจรจาการบินระหว่างคณะผู้แทนรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และคณะผู้แทนรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี เพื่อหารือกันในเรื่องเกี่ยวกับบริการเดินอากาศระหว่างประเทศ โดยคณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันในเรื่องการปรับปรุงสิทธิความจุความถี่ การกำหนดสายการบิน และข้อบทความปลอดภัยการบินและข้อบทการรักษาความปลอดภัยการบิน
มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๙
เรื่อง ขออนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาถนนสาย ๖๗ (อันลองเวง - เสียมราฐ) ประเทศกัมพูชา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) จัดหาเงินกู้จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เพื่อให้กู้แก่ประเทศกัมพูชาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการพัฒนาถนนสาย ๖๗ (อันลองเวง-เสียมราฐ) ระยะทาง ๑๓๑ กิโลเมตร วงเงิน ๑,๓๐๐ ล้านบาท โดย ธสน. เป็นผู้ลงนามในสัญญากู้เงินกับประเทศกัมพูชาในฐานะผู้ให้กู้ (Lender) และ สพพ. ร่วมลงนามในสัญญากู้เงินกับประเทศกัมพูชาในฐานะตัวแทนผู้ให้กู้ (Lender's Agent) กับให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณให้แก่ สพพ. เป็นค่าดอกเบี้ยในส่วนเกินกว่าร้อยละ ๑.๕ ต่อปี และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่กล่าวข้างต้น ตลอดอายุสัญญากู้เงิน ๓๐ ปี และในกรณีที่ประเทศกัมพูชาผิดนัดชำระหนี้ให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณให้กับ สพพ. ตามจำนวนเงินที่ผิดนัดชำระหนี้เพื่อชำระให้แก่ ธสน. ไปก่อน และเมื่อ สพพ. เรียกเก็บหนี้ดังกล่าวได้ก็ให้นำส่งเงินคืนคลังต่อไป ทั้งนี้ให้ ธสน. ได้รับการชดเชยจากรัฐบาลตามมาตรา ๒๓ ของพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๓๖ ในกรณีที่เกิดความเสียหายเนื่องจากการให้กู้ในโครงการดังกล่าว สำหรับส่วนต่างของดอกเบี้ยสำหรับการให้กู้ในโครงการนี้ ให้คำนวณจากต้นทุนทางการเงิน (cost of funds) ของ ธสน. รวมกับส่วนเพิ่มอีกร้อยละ ๐.๗๕ ต่อปี และหักด้วยดอกเบี้ยที่ ธสน. ได้รับจากรัฐบาลกัมพูชา ตามสัญญาเงินกู้
มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๙
เรื่อง ขออนุมัติเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้าง รายการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก แห่งที่ ๒ ที่ บ.บูเก๊ะตา
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้กรมทางหลวงเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างรายการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก แห่งที่ ๒ ที่ บ.บูเก๊ะตา อ.แว้ง จ.นราธิวาส จำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท และให้เปลี่ยนแปลงระยะเวลาการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณจากปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘-พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘-๒๕๕๐ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๙
เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอร่างกฎกระทรวงการประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยมีสาระสำคัญคือ ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการขออนุญาต การอนุญาต และการขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ และให้ดำเนินการต่อไปได้
มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๙
เรื่อง ขออนุมัติลงนามพิธีสารแก้ไขบันทึกความเข้าใจอาเซียนว่าด้วยบริการขนส่งสินค้าทางอากาศ
คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนออนุมัติการลงนามร่างพิธีสารแก้ไขบันทึกความเข้าใจอาเซียนว่าด้วยบริการขนส่งทางอากาศ โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขข้อความในร่างพิธีสาร ฯ ที่มิใช่สาระสำคัญและการแก้ไขนั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้สามารถดำเนินการได้ โดยประสานงานกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งของอาเซียน หรืออธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้แทนไทยสำหรับการลงนามดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ให้กระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นเพิ่มเติมของกระทรวงการต่างประเทศในบางประเด็น อาทิ การสะกดชื่อเมือง "Makassar" ของอินโดนีเซียในข้อ ๒ ของร่างพิธีสาร ฯ แตกต่างไปจากชื่อเมือง "Makasar" ที่ปรากฏในวรรค ๓ ของบันทึกความเข้าใจอาเซียนว่าด้วยบริการขนส่งสินค้าทางอากาศปี ๒๕๔๕ (ค.ศ. ๒๐๐๒) ควรตรวจสอบชื่อเมืองดังกล่าวเพื่อความถูกต้องก่อนการลงนาม และแก้ไข "Article ๔" เป็น "Article ๓" เพื่อความต่อเนื่องของ Article เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย


มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๙
เรื่อง การจัดทำความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐมาดากัสการ์
คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอดังนี้ เห็นชอบร่างความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐมาดากัสการ์ โดยอนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถปรับปรุงถ้อยคำในร่างความตกลง ฯ ที่จะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของร่างความตกลง ฯ ได้ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนาม รวมทั้งให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการเพื่อให้ความตกลง ฯ มีผลบังคับใช้ต่อไป
มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๙
เรื่อง ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ครั้งที่ ๕
คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอดังนี้ รับทราบสรุปผลการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue : ACD) ครั้งที่ ๕ ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อวันที่ ๒๓-๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๙ โดยประเด็นที่มีการพิจารณาในที่ประชุม ฯ อาทิ การรับทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน เข้าเป็นสมาชิก ACD และการจัดตั้งกลไกหารือกลุ่มเล็ก ประกอบด้วย ประเทศเจ้าภาพปีก่อน ปีปัจจุบัน และปีต่อไป รวมทั้งไทยในฐานะผู้ประสานงานหลักของ ACD ในการพิจารณาร่างหลักเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่เสนอต่อที่ประชุม ACD ในครั้งต่อไป และพิจารณาความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ ด้านพลังงานและด้านการเงิน ไข้หวัดนก ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และเห็นชอบข้อเสนอของไทยที่จะพัฒนากลไกประสานงานเพื่อรองรับการเติบโตของ ACD โดยมอบให้กลไกหารือกลุ่มเล็กที่จะจัดตั้งขึ้น (ประกอบด้วยประเทศเจ้าภาพปีก่อน ปีปัจจุบัน และปีต่อไป รวมทั้งไทยในฐานะผู้ประสานงานหลักของ ACD) พิจารณาเรื่องทิศทางความร่วมมือในอนาคต กลไกประสานงาน และหลักเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่ของ ACD เป็นต้น และเห็นชอบเรื่องที่ฝ่ายไทยจะดำเนินการต่อไป ดังนี้ ให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง รับผิดชอบการจัดการประชุมระดับ รมว.คลัง ACD และพิจารณาแนวทางขยายความร่วมมือเรื่องการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชียในกรอบ ACD ให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพลังงาน รับผิดชอบการพิจารณาแนวทางผลักดันยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของไทยในกรอบ ACD และให้กระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบเรื่องการหารือกับประเทศเจ้าภาพปีก่อนหน้า ปีปัจจุบัน และปีต่อไป ภายใต้กลไกหารือกลุ่มเล็ก เพื่อพิจารณาข้อเสนอเรื่องหลักเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่ ทิศทางความร่วมมือ ตลอดจนกลไกประสานงานในอนาคตของ ACD
มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๙
เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๓๙ และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ครั้งที่ ๓๙ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ การประชุมระหว่างรัฐมนตรีอาเซียนกับคู่เจรจา และการประชุม ASEAN Regional Forum-ARF ระหว่างวันที่ ๒๔ - ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมประชุม สำหรับภาพรวมของการประชุมได้มีการพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ อาทิเช่น การเร่งรัดจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้แล้วเสร็จภายในปี ค.ศ. ๒๐๑๕ การลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราแก่คนสัญชาติของประเทศสมาชิกอาเซียน การจัดตั้ง High Level Task Force on the ASEAN Charter การฉลองครบรอบ ๔๐ ปี อาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ การเตรียมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๒ (ธันวาคม ๒๕๔๙) การลงนามในเอกสารกำหนดกรอบการดำเนินงานของแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อนำความเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ ฯ การจัดตั้ง ASEAN-Australia Center ที่เมืองใหญ่ของออสเตรเลีย การกำหนดจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ทุก ๒ ปี การรับรองแผนงานร่วมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับแคนาดา ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๘-๒๕๕๐ และลงนามปฏิญญาร่วมระหว่างอาเซียนกับแคนาดาว่าด้วยความร่วมมือเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายสากล การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหภาพยุโรป รวมทั้งการหารือเกี่ยวกับการจัดประชุมผู้นำสมัยพิเศษกับสหรัฐ ฯ สหภาพยุโรป และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ การหารือเรื่องการพัฒนาความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน และการให้สัตยาบันความร่วมืออาเซียนในการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่ได้ลงนามเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นต้น
มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๙
เรื่อง รายงานความก้าวหน้าตามโครงการ Contract Farming ภายใต้กรอบ ACMECS
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานความก้าวหน้าตามโครงการการเกษตรแบบมีสัญญา (Contract Farming) ภายใต้กรอบ Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy (ACMECS) โดยผลการดำเนินงานภายในประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายตามความเหมาะสมของดินและพืชที่ส่งเสริม ประกอบด้วยพืชพลังงาน ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อย และพืชไร่ ได้แก่ ถั่วเหลือง รวมทั้งได้ประสานงานให้ภาคเอกชนติดต่อกับกระทรวงต่าง ๆ และธนาคารส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย SME Bank เกี่ยวกับสินเชื่อ และมอบหมายผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเกษตรแก่ภาคเอกชน ทั้งนี้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อแก่นักลงทุนที่สนใจลงทุนภายใต้โครงการ Contract Farming ในประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ส่วนผลการดำเนินงานในประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถบรรลุข้อตกลงในรูปของบันทึกการเจรจา (Record of Discussion) กับกระทรวงเกษตรและชลประทานของพม่า เมื่อต้นเดือนธันวาคม ๒๕๔๘ โดยมีสาระสำคัญโดยย่อว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะทำหน้าที่ฝึกอบรมและส่งเสริมด้านการเกษตร จัดหาเมล็ดพันธุ์พืช แลกเปลี่ยนนักวิชาการ ส่วนกระทรวงเกษตรและชลประทานของพม่า มีหน้าที่จัดหาที่ดิน ถ่ายทอดเทคโนโลยี รวบรวมเกษตรกร และประสานงานด้านการส่งเสริมการลงทุน นอกจากนี้ มีการระบุพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตร แต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ รวม ๔๒.๘๒ ล้านไร่ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการดำเนินงานภายใต้โครงการ Contract Farming ได้ และในขณะนี้ มีบริษัทที่เข้าลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเริ่มทำการเพาะปลูกพืชพลังงานและถั่วเหลืองรวม ๑๔ บริษัท มีเนื้อที่ที่ได้รับสัมปทานประมาณ ๑.๑๒ ล้านไร่ แยกเป็นพื้นที่ในลาว ๐.๒๔ ล้านไร่ พม่า ๐.๗๕ ล้านไร่ และกัมพูชา ๐.๑๓ ล้านไร่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น