วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551

5.รัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์

รัฐศาสตร์ กับนิติศาสตร์ สัมพันธ์กันอย่างไร?
ชำนาญ จันทร์เรือง กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 เมษายน 2548
ในยุคสมัยที่เรามีนักกฎหมาย เป็นประธานรัฐสภา และปฏิบัติหน้าที่มาแล้วสามสี่ครั้ง ปรากฏผลสะท้อนออกมา ทั้งที่พอใจและไม่พอใจ ที่พอใจก็บอกว่าดีแล้ว ถูกแล้วที่ใช้กฎระเบียบโดยเคร่งครัด และเสมอหน้า ส่วนที่ไม่พอใจก็บอกว่า เคร่งครัดมากเกินไป ควรจะใช้หลักรัฐศาสตร์แทนหลักนิติศาสตร์
ประกอบกับในอดีตที่ผ่านมาเวลามีปัญหาในบ้านเมืองเกิดขึ้นมาคราวใด ก็มักจะได้ยินเสียงเรียกร้องให้ใช้หลักรัฐศาสตร์แทนหลักนิติศาสตร์ ก็เลยทำให้ผมซึ่งร่ำเรียนมาทั้งรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ต้องเดือดร้อนหรือเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จำต้องออกมาแสดงความคิดเห็นว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร
คำว่า "รัฐศาสตร์" นั้น ความหมายตรงตัวก็คือ ศาสตร์แห่งรัฐและ "รัฐ" นั้น ตามความหมายแล้วก็คือหน่วยงานทางการเมืองที่ประกอบไปด้วยปัจจัย 4 ประการ คือ ดินแดน ประชากร รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย
พูดง่าย ๆ รัฐก็คือกลไกในการปกครองประเทศ ฉะนั้น รัฐก็จะมีสถานภาพในทางกฎหมายซึ่งมีอำนาจเหนือทุกคน หรือจะแบ่งย่อยออกเป็น 2 แนวทางคือ ศาสตร์แห่งรัฐซึ่งเป็นเรื่องของการเมืองการปกครอง โดยอาศัยกฎเกณฑ์ของกฎหมายเป็นเครื่องกำหนดกับศาสตร์แห่งอำนาจซึ่งเป็นเรื่องของการศึกษาพฤติกรรม หรือการกระทำทางการเมือง เป็นการศึกษาถึงเงื่อนไขและสภาพของการแข่งขัน ตลอดจนวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายใต้กรอบของกฎหมาย ในแง่ของรูปแบบและปรากฏการณ์ซึ่งเป็นความหมายโดยรวมของ "รัฐศาสตร์"
รัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐและกฎหมายเป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกกันได้ รัฐศาสตร์เป็นวิชาที่เน้นการศึกษาตัวบทกฎหมาย ซึ่งความสัมพันธ์ของวิชาทั้งสองนั้น ไม่สามารถกล่าวได้ว่า วิชาใดเป็นที่มาของอีกวิชาหนึ่ง และไม่สามารถกล่าวได้ว่าวิชาใดสำคัญกว่าอีกวิชาหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพราะวิชาทั้งสองนั้นมีกำเนิดและวิวัฒนาการร่วมกันมา ควบคู่กับการเจริญเติบโตของสังคมมวลมนุษยชาติ
กฎหมายเกิดขึ้นมาจากความจำเป็นของสังคมที่มีประชากรมาอยู่ร่วมกันเมื่อมีจำนวนมากขึ้น ก็มีความจำเป็นจะต้องมีกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันเพื่อควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม กฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันได้วิวัฒนาการขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มจากการมีสัญญาประชาคม มีรัฐ และการกำหนดกฎหมายขึ้นมา
จะเห็นได้ว่า กฎหมายนั้นมาจากความต้องการหรือความจำเป็นของมนุษย์ที่จะอยู่ร่วมกันเป็นสังคม แต่ในขณะเดียวกัน สังคมได้สร้างกฎหมายขึ้นมา จนเราสามารถกล่าวได้ว่า กฎหมายก็ถือกำเนิดมาพร้อมกับสภาพความเป็นรัฐ ในขณะที่รัฐถือกำเนิดขั้นมา ความพยายามประการหนึ่งของรัฐคือการสร้างระเบียบ กฎเกณฑ์สำหรับวางกรอบการเมืองและการปกครองของรัฐ ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญนั่นเอง
รัฐธรรมนูญจะบัญญัติถึงโครงสร้างอำนาจทางการเมือง การประนีประนอม การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เป็นกฎหมายที่ได้ผ่านการวิวัฒนาการมายาวนานและหลายขั้นตอน และโดยหลักแล้วรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายมหาชน ที่กำหนดจุดประสงค์ของประเทศไว้ค่อนข้างแน่ชัดว่า ในสัญญาประชาคมฉบับนี้ ประเทศได้กำหนดทิศทางและแนวทางใดในการปกครองประเทศ
ในรัฐธรรมนูญของประเทศส่วนมากจะพบการแบ่งสรรอำนาจในการปกครองประเทศ และที่สำคัญคือความเป็นกฎหมายที่มีลักษณะถาวรแก้ไขได้ยาก (แต่ก็แก้ไขได้) นั่นก็คือเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีความแน่ชัด มีทิศทางการปฏิบัติที่แน่นอนด้วยเหตุนี้ จึงถือได้ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในทางการเมืองและการปกครองประเทศ ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติที่กฎหมายในลำดับถัดลงมาจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า ไม่มีส่วนไหนของหลักรัฐศาสตร์เลยที่ระบุว่า ไม่ให้ใช้กฎหมายในการปกครองประเทศหรือการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายในลำดับใด ตั้งแต่รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ หรือพระราชบัญญัติ พระราชกำหนดต่างๆ จนถึงกฎหมายลำดับรอง ซึ่งก็รวมไปถึงกฎหรือข้อบังคับต่างๆ ที่ออกมาบังคับใช้โดยชอบด้วยกฎหมาย
กล่าวโดยสรุปก็คือทั้งหลักรัฐศาสตร์และหลักนิติศาสตร์ต่างต้องใช้ควบคู่ไปด้วยกัน มิใช่ว่าพอไม่อยากจะใช้กฎหมายมาคราวใดก็บอกว่า ให้ใช้หลักรัฐศาสตร์แทนหลักนิติศาสตร์ กลายเป็นว่า ใครใช้หลักนิติศาสตร์แก้ปัญหากลายเป็นผู้ร้าย และใครใช้หลักรัฐศาสตร์กลายเป็นผู้ที่ไม่ยึดระเบียบกฎหมายไปเสียนี่
ใครรักใครชอบใครก็ชอบไป ใครจะต่อต้านใครก็ต่อต้านไป อย่ามาสร้างความเข้าใจผิดกับหลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ของผมเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น