วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551

6.เจรจา FTA ไทย-ญี่ปุ่น

เจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ควรจบที่ผลประโยชน์เหมาะสมร่วมกัน
วิเชษฐ ศรีรัตนไตรเลิศ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2548
ในการจัดทำข้อตกลงเสรีทางการค้า ระดับทวิภาคี ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น (เอฟทีเอ) มีความคืบหน้า ไปได้อีกระดับหนึ่ง ภายหลัง นายโชอิจิ นาคากาวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เข้าพบ และหารือกับนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องการที่จะให้มีการลงนามข้อตกลงดังกล่าวภายในเดือน ก.ค.นี้
ท่าทีของญี่ปุ่นในครั้งนี้ หากมองอย่างฉาบฉวย อาจจะเห็นว่า ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายถอย โดยยอมลดท่าทีที่แข็งกร้าวในการเจรจากับฝ่ายไทย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการลดภาษีชิ้นส่วนยานยนต์ โดยญี่ปุ่นยินยอมถอนข้อเสนอภาษีชิ้นส่วนรถยนต์ และการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ขนาดเกิน 3,000 ซีซี
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่ญี่ปุ่นยอมถอยในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามหาศาล เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์นั้น เป็นการซื้อเวลาเพื่อให้มีการเปลี่ยนหัวหน้าทีมเจรจาของฝ่ายไทยหรือไม่ ขณะที่การลดภาษีเหล็ก หันมาใช้ระบบโควตาในส่วนที่ลดภาษี (Tariff Quota) โดยใช้โควตากับเหล็กบางส่วนแบบไม่มีการคิดภาษี
การใช้ระบบโควตานำเข้าเหล็กมีจุดมุ่งหมายให้ผู้ประกอบการของไทยมีเวลาปรับตัว และมีการใช้ระบบกำหนดระยะเวลาในการลดภาษีควบคู่กัน ซึ่งข้อเรียกร้องของภาคเอกชนไทย มีความต้องการให้ตั้งสถาบันที่เป็นกลาง ขึ้นมากำหนดโควตาการนำเข้า โดยมุ่งเน้นรายการที่ไทยผลิตไม่ได้ และต้องแก้ปัญหาให้ทั้ง 2 ฝ่าย มีข้อมูลที่ตรงกัน
นอกจากแนวคิดใช้ระบบโควตาการนำเข้าเหล็ก ยังมีการริเริ่มโครงการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก (Japan-Thailand Steel Industry Cooperation Program) โดยญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนด้านเทคนิคและเทคโนโลยี การพัฒนาทักษะช่างเทคนิค และสนับสนุนการศึกษาด้านวิศวกรรมเหล็กแก่ไทย
หากพิจารณาความคืบหน้า เอฟทีเอระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ล่าสุดนี้น่าคิดว่า มีประเด็นใดบ้างที่ชี้ให้เห็นว่า ไทยได้รับประโยชน์จากการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าในครั้งนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในที่นี้ต้องมีนัยสำคัญ ต่อการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น
ท่าทีของญี่ปุ่นครั้งนี้ เป็นเพียงการยืดเวลาสิ่งที่ญี่ปุ่นต้องการได้ออกไปก่อนเท่านั้น โดยที่ไทยยังไม่ได้รับผลประโยชน์เป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งคณะเจรจาของฝ่ายไทยนำโดย นายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น มีความต้องการให้ญี่ปุ่นดำเนินการเจรจาด้านสินค้าเกษตรเพิ่มเติม โดยระบุว่า การเจรจาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อญี่ปุ่นตอบสนองต่อการเจรจาสินค้าเกษตร ถ้าไม่ตอบสนองจะไม่เจรจาต่อ
แม้ญี่ปุ่นจะอ้างว่า การเจรจาด้านสินค้าเกษตรจะปิดการเจรจาไปแล้วก็ตาม ซึ่งการเจรจาสินค้าเกษตรที่ไม่นับรวมข้าว ไก่ มันสำปะหลัง ก็ทำให้ไทยแทบจะไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญจากการเปิดเสรีทางการค้ากับญี่ปุ่นในครั้งนี้อยู่แล้ว
ฝ่ายไทยควรคำนึงถึงความจริงใจของญี่ปุ่นที่มีต่อการเจรจา และต้องเน้นย้ำถึงความหมายของคำว่า หุ้นส่วนเศรษฐกิจอย่างแท้จริง (JTEPA: หุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย ญี่ปุ่น) การเจรจายึดหลักให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้รับผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน มีความเสมอภาคในการเจรจาอย่างแท้จริง
เช่น ในกรณีสินค้าใดที่เป็นสินค้าอ่อนไหวของญี่ปุ่น ที่ไม่มีการหยิบขึ้นมาเจรจาในครั้งนี้ สินค้าอ่อนไหวของไทยก็ควรจะถูกปฏิบัติในลักษณะเช่นเดียวกัน ไม่ควรปล่อยให้ญี่ปุ่นกดดันไทยอย่างไม่เหมาะสม ส่งเสริมให้การเจรจามีความสอดคล้องกับเจตนารมณ์การเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างกันอย่างแท้จริง
และไม่ควรกดดันให้การเจรจาต้องยุติในเดือน ก.ค.นี้ แต่ควรยุติเมื่อการเจรจาจบลงที่ทั้ง 2 ฝ่าย ได้รับผลประโยชน์อย่างเหมาะสมร่วมกัน หากผลประโยชน์ที่ญี่ปุ่นนำมาใช้เจรจากับไทย ไม่ใช่ผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ที่ไทยต้องการ และมีผลเสียมากกว่าผลดี ไทยก็ควรจะยุติการเจรจา

"นิตย์ พิบูลสงคราม"ยกทีมแจง เจรจาเอฟทีเอ "ไทย-สหรัฐ"
มติชนรายวัน วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9932
หมายเหตุ - เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายนิตย์ พิบูลสงคราม หัวหน้าคณะทีมเจรจาการเปิดเขตเสรีการค้า เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-สหรัฐ ได้ยกทีมทำงาน เช่น นางนงนุช เพชรรัตน์ อธิบดีกรมอเมริกา นายวีรชัย พลาศรัย รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องชี้แจงขั้นตอน และแนวทางปฏิบัติในการเจรจา รวมทั้งข้อกล่าวหาต่างๆ
=อีก2สัปดาห์ถกกรอบเจรจา
"ความจริงแล้วการเจรจาตกลงจัดทำเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ระหว่างไทยและสหรัฐ ไม่ได้เป็นเรื่องปกปิดอะไร เพียงแต่ว่าขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจา ในลักษณะการยื่นข้อเสนอของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งยังไม่มีข้อตกลงอะไรที่ชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรถ้าจะมีการนำมารายละเอียดการหารือมาเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ
เนื่องจากบางเรื่อง บางหัวข้อ ยังอยู่ระหว่างการหารือในระดับกลุ่ม หรือต้องผลักดันด้วยวิธีการทางการเมือง ด้วยเหตุนี้จึงน่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การทำเอฟทีเอ ระหว่างไทยและสหรัฐถูกโจมตี และถูกมองด้วยภาพลบจากหลายฝ่ายในประเทศมาโดยตลอด
ขณะนี้ ผมสามารถพูดได้เลยว่าจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา การเจรจาครั้งนี้น่าจะมีอุปสรรคติดขัดอยู่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ และอาจมีบางเรื่องที่ต้องให้ระดับผู้นำรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ โดยล่าสุดนี้ คณะทำงานกำลังเตรียมที่จะประสานงานกับท่านสมคิด(นายสมคิด จาตรุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะสามารถหารือกันได้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ก่อนที่ทีมเจรจาจะเดินทางไปสหรัฐในเดือนกรกฎาคม เพื่อนำท่าทีที่ได้ไปเจรจากับทางสหรัฐ
ซึ่งผมคาดว่าการเจรจากับสหรัฐคงมีไม่ต่ำกว่า 11 ครั้ง แต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างประมาณ 1.5 เดือน ซึ่งในการเจรจาที่สหรัฐเดือนกรกฎาคมนี้ ถือว่าเป็นการเจรจาครั้งที่ 4
=ขอนโยบายรัฐ4-5ประเด็น
เรื่องที่จะเรียนหารือกับท่านสมคิด ก็คงจะเป็นเรื่องที่ยังมีปัญหาอยู่ 4-5 เรื่อง เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา(intellectual Property) ด้านการเงิน(Finnance) ด้านแรงงาน(Labour) สิ่งแวดล้อม(Environment) เป็นต้น แต่ยืนยันว่ายังไม่มีเรื่องพืชตัดแต่งพันธุกรรม(จีเอ็มโอ) เพราะยังไม่มีการพูดคุยกัน
การหารือก็เพื่อให้ได้กรอบนโยบาย เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่น่าจะมีการเจรจาเกิดขึ้น และการทำเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าคณะเจรจาไม่ได้ทำอะไรตามอำเภอใจ จะต้องมีการเสนอความเห็นผ่านรัฐแล้ว และหากมีการตกลงกันในสัญญา แต่จะยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งหากมีการแก้ไขกฎหมาย ก็ต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร หากสภาไทยไม่เห็นด้วยบางเรื่อง ก็อาจมีการนำกลับมาพิจารณาใหม่
=สหรัฐยอมเปิดช่องเจรจา"ผลไม้-ไก่"
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะพิจารณาตามหลักความจริงด้านเศรษฐกิจ ของทั้ง 2 ประเทศ ต้องยอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจของไทยเป็นเพียงแค่ 1 ส่วนใน 100 ส่วนของสหรัฐเท่านั้น เพราะส่วนแบ่งของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐมีแค่ 1.2% เพราะฉะนั้น 1% สำหรับมูลค่าการค้าในสหรัฐที่มี 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มันถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมากสำหรับเขา
แต่ถ้าเราจะมองในมุมกลับว่า อีก 99% ที่เรายังไม่ได้เข้าไป มันจะเป็นของเราอีกสักเท่าไร มันเป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะตลาดสหรัฐมันเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และการทำเอฟทีเอก็น่าจะเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถทำได้
ส่วนเรื่องที่บอกว่าการทำเอฟทีเอ จะทำให้วิถีชีวิตของคนไทยจะเปลี่ยนไป ผมว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาพูด เพราะชีวิตคนเรามันเปลี่ยนทุกวัน เพราะถ้าไม่เปลี่ยนวันนี้ เราก็คงจะต้องเป็นชาวนากันต่อไป ซึ่งถ้าไม่เปลี่ยนผมก็คงไม่ต้องมานั่งคุยอยู่แบบนี้หรอก คงไปไถนาแล้ว ส่วนเรื่องตัวเงินมันเป็นตัวช่วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจีดีพี หรือยอดการขายสินค้าเกษตร ที่เวลานี้สหรัฐมีการนำเข้าเพียง 600 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น และไม่เคยนำเข้าสินค้าเกษตร หรือผลไม้จากไทยมาเลย เพราะติดขัดเรื่องมาตรฐานสินค้าสุขอนามัยพืชและสัตว์ของสหรัฐอยู่
แต่ภายหลังการทำเอฟทีเอเกิดขึ้น สินค้า 2 ส่วน คือ ผลไม้และไก่สุก ที่เดิมสหรัฐไม่ยอมเจรจากับเรา แต่ในการประชุม 3 ครั้งที่ผ่านมา เขาเริ่มจะยอมคุยแล้ว จากเดิมที่ไม่คุยเลย และน่าจะขยายออกไปสู่สินค้าเกษตรชนิดอื่น ซึ่งก็น่าจะเป็นโอกาสดีของเกษตรกรไทยที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น หรือผู้ผลิตรายย่อยก็จะสามารถส่งสินค้าเข้าไปขายได้ด้วย
และในข้อเท็จจริงไทยจะไปขายอะไรให้เขาถ้าไม่ขายผลไม้ ซึ่งเราก็เจรจาขอขายผลไม้ไทย 6 ชนิดอยู่ คือ ลำไย ลิ้นจี่ สับปะรด ฝรั่ง มังคุด ส้มโอ แต่ก็ต้องมีการเจรจามาตรฐานสินค้ากับเขาว่าทำอย่างไรถึงจะเอาไปขายในตลาดสหรัฐได้ ขณะนี้ก็ได้มีการทำงานกันอยู่ตลอดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเชิญเจ้าหน้าที่สหรัฐเข้ามาดูว่าหากผลไม้ไทยเรามีข้อขัดข้องเรื่องสุขอนามัยอะไร จะต้องแก้ไขอย่างไร ก็มีเรื่องการฉีดรังสีป้องกันแมลงศัตรูพืช และให้ทางการเขาตรวจสอบ
แต่ถ้าในอนาคตเรามีเอฟทีเอ เราจะได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องการ
มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องขายสินค้าพวกนี้ให้ได้ ซึ่งวิธีการก็คือต้องจับมือเขามาเซ็นสัญญากับเราว่าต่อไปนี้จะต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้มากกว่าคนที่ไม่ได้เซ็นสัญญาด้วย
=ยันรัฐสภามะกันเมินทำเอฟทีเอไทย
เพราะฉะนั้นในข้อเท็จจริง รัฐสภาของสหรัฐเขาถึงไม่ค่อยมองเรื่องทำการค้ากับประเทศอื่น ตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยที่เขาจะเข้ามาค้าขายได้มันน้อยมาก เขาค้าขายภายในประเทศยังมีมูลค่ามหาศาลกว่าอีก
แต่สิ่งที่สหรัฐจะได้คืนจากไทยในการเปิดเอฟทีเอนั้น ขอเรียนย้ำให้เข้าใจว่า ความจริงแล้วรัฐสภาสหรัฐไม่ได้ให้ความสนใจกับการทำเอฟทีเอกับไทยมากนัก แต่เป็นทางฝ่ายบริหารของสหรัฐ เขามองว่าไทยเป็นพันธมิตรกันมานานในภูมิภาคนี้ เขาเองก็อยากที่จะเข้ามาในภูมิภาคนี้อย่างเต็มที่ เพราะเขามองว่าขณะนี้จีนเริ่มเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น ในขณะที่สหรัฐมีบทบาทลดน้อยลงไป ฉะนั้น ทางหนึ่งที่จะเข้ามา ก็คือเรื่องของเศรษฐกิจการค้า โดยสหรัฐมีบทบาทเป็นผู้ให้ เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ(Partnership)
ถ้าสามารถเปิดเอฟทีเอกับไทย ไทยก็จะเป็นประเทศที่ต่อจากสิงคโปร์ที่เป็นมิตรกับสหรัฐ การตกลงกับไทยจึงมีความหมาย นี่คือความคิดของฝ่ายบริหารสหรัฐ
ที่ผ่านมาสหรัฐไม่เคยสนใจเรื่องเอฟทีเอกับประเทศไหนเลย ในขณะที่สหภาพยุโรป(อียู) เป็นชาติที่ทำเอฟทีเอเยอะมากเป็นร้อยฉบับ ส่วนสหรัฐเริ่มมาทำเอฟทีเอในสมัยปลายยุคประธานาธิบดีคลินตัน เขาไปคุยกับสิงคโปร์ที่สนามกอล์ฟ 3 เดือนก่อนพ้นตำแหน่ง โดยก่อนหน้านั้น สหรัฐมีเอฟทีเอกับอิสราเอล และจอร์แดน ซึ่งเป็นพันธมิตรที่มีการค้าเล็กมาก
=ค้าไทยในสหรัฐเริ่มวูบต่ำ
ในช่วงนั้น รัฐสภาสหรัฐก็วิจารณ์ว่าประเทศเหล่านี้เป็นประเทศเล็กไม่มีความหมายในเชิงเศรษฐกิจเท่าไร แต่ทั้งหมดนี้ฝ่ายบริหารบอกว่าเป็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องพันธมิตร จึงต้องการคงบทบาทในภูมิภาคต่างๆ ของสหรัฐ ซึ่งต่อไปเขากำลังจะไปดำเนินการเจรจาเปิดเอฟทีเอกับภูมิภาคตะวันออกกลาง
แต่ในแง่ของไทยนั้น ตลาดสหรัฐมีความสำคัญกับเรามาก ต่อไปถ้าเขาทำเอฟทีเอกับประเทศอื่นไปเรื่อยๆ เชื่อว่าจะทำให้ส่วนแบ่งสินค้าไทยในตลาดสหรัฐก็จะลดลง ซึ่งขณะนี้มันกำลังเริ่มแล้ว โดยหลังจากที่เขาทำเอฟทีเอกับสิงคโปร์และออสเตรเลียสำเร็จ มูลค่าสินค้าไทยในตลาดสหรัฐลดลงทันทีจาก 2% ของมูลค่าสินค้าที่สหรัฐนำเข้าทั้งหมด เหลือเพียง 1% เศษ
ซึ่งถ้ายังเป็นอย่างนี้มันจะมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย ตราบใดที่เอกชนไทยยังไม่ไปมุ่งกับตลาดใหม่ เช่น แอฟริกา ดังนั้น เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เหมือนกับที่ท่านนายกฯ(พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) เคยพูดไว้
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม สิ่งที่เราต้องการจากไทยมี 6 ข้อ รวมถึงการให้เขาเปิดตลาดสินค้าเกษตร ส่วนของเขาที่ต้องการให้เราเปิดคือ Access ซึ่งผมกล้าพนันได้เลย หากเราเปิด Access ให้เขาแล้ว ในอีก 5-8 ปีข้างหน้า ก็ไม่มีใครกล้ามาเคาะประตูเรา เพราะเราไม่มีตลาดให้เขา
ส่วนเรื่องยานั้น เขาให้เราคุ้มครองเฉพาะแค่ยาที่มีการคิดค้นขึ้นมาใหม่เท่านั้น ส่วนเรื่องยาราคาแพง ผมเองก็มีประสบการณ์อยู่ เคยต้องจ่ายค่ายาครั้งละ 205 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 หมื่นบาท ซึ่งถ้าซื้อยาในเมืองไทยก็ได้นาน 10 เดือน แต่ถ้าราคาแพงเท่าที่ขายในสหรัฐ เชื่อว่าคนไทยคงไม่นิยมหรอก
เหมือนอย่างการเปิดให้แบงก์เขาเข้ามาได้ แต่อย่าลืมว่าในสหรัฐมีเป็นหมื่นแบงก์ ขณะที่มีการค้ากับเราน้อยเหลือเกิน อย่างไรก็ตาม ท่าทีในการเจรจาเปิดเสรีทางการเงิน ขึ้นกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และกระทรวงการคลัง
ส่วนที่มีคำถามว่า การเจรจาจะเสร็จสิ้นเมื่อใด ตอบได้เลยว่า ภายในปีนี้ไม่เสร็จแน่นอน และคาดว่าจะต้องประชุมร่วมกันน่าจะ 11 ครั้ง ถึงจะรู้เรื่อง
อย่างไรก็ตาม การที่ไทยจะเจรจาการค้ากับสหรัฐ เป็นสิ่งที่ประเทศไทยตกลงไม่ใช่ผมตกลง แต่หน้าที่หลักของผมก็คือ การเจรจาให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ประเทศ อะไรที่เราไม่พร้อมที่จะรับเราก็ไม่เอา
"แต่ทั้งหมดมันขึ้นอยู่กับประเด็นปัญหาอันหนึ่งก็คือว่าไทยได้ประโยชน์หรือเปล่า
ถ้าไม่ได้ประโยชน์มันก็จบ แค่เสียเวลาไปคุยกับเขา 2 ปี ก็เท่านั้น!!"
หน้า 20

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น